คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
  การวิจัย

เรื่องดีดีที่อยากเล่า: ความดันโลหิตสูงและอาหารที่ควรควบคุม

กลุ่มKM การจัดการปัญหาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ

โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ต้นเรื่องเริ่มมาจากรองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ และทีมวิจัย ซึ่งเป็นอาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากกองทุนซี.เอ็ม.บี ฯ เพื่อทำวิจัยเรื่อง “ประสิทธิผลของกระบวนการจัดการความรู้ต่อการจัดการปัญหาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ” จึงมีการพัฒนากลุ่มการจัดการความรู้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งที่สามารถคุมความดันโลหิตสูงได้และไม่ได้ รวม 30 คน เพื่อพัฒนาความสามารถหรือปรับพฤติกรรมในการจัดการปัญหาความดันโลหิตสูงเกี่ยวกับเรื่อง อาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา การสังเกตอาการผิดปกติ การดูแลด้านจิตใจ และปัญหาอื่นๆ

          ความรู้สึกประทับใจครั้งแรกจากเข้ากลุ่มKM “การจัดการปัญหาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ” เมื่อวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553   เวลา 10.30 – 12.00 น. ณ อาคาร 4   ชั้น 2  หอพักคณะพยาบาลศาสตร์ บางขุนนนท์ เริ่มจากการที่ผู้สูงอายุทุกคนตั้งใจอย่างจริงจังที่จะมาเข้ากลุ่ม โดยมาก่อนเวลาที่นัดหมายไว้ ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แม้ว่าจะมีเพิ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบ (การยิงกัน) ของบ้านเมืองที่เกิดจากชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ก็ตาม ในครั้งนี้ รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ ทำหน้าที่นำกลุ่ม โดยให้สมาชิกกลุ่มได้เล่าถึงความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นเมื่อรู้ว่าตัวเองมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมกับโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เป็นอยู่ หลายคนเล่าว่า รู้สึกตกใจ กลัว บางคนไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็น แต่พบโดยบังเอิญเมื่อมาวัดความดันโลหิตที่โครงการฯ บางคนมีความดันโลหิตสูงเฉพาะเวลาไปพบแพทย์ เพราะตื่นเต้นและเครียดที่ต้องไปพบหมอ บางคนบอกว่าพบภาวะความดันโลหิตสูงหลังที่ตัวเองมีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือเบาหวาน หรือหลอดเลือดตีบเนื่องจากภาวะเครียด ระยะนี้เครียดเรื่องการเมืองมาก ดูข่าวแล้วยิ่งเครียด และเมื่อขอให้ทุกคนในกลุ่มได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายในการควบคุมความดันโลหิต พบว่า ต้องการควบคุมให้มีค่าความดันโลหิตไม่เกิน 130/80 มม. ปรอท และอยากให้สุขภาพแข็งแรง ไม่อยากจะทานยา แต่อยากให้ความดันเป็นปกติ ซึ่งถือว่าเป็นคำมั่นสัญญาร่วมกันว่า ทุกคนในกลุ่มจะพยายามควบคุมให้ได้ตามที่ตั้งไว้ โดยจะช่วยดูแลซึ่งกับและกันด้วย (ช่วยเตือนกัน)

          หลังจากนั้นทุกคนได้ช่วยกันเสริมความรู้ให้แก่กัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องสาเหตุ อาการและอาการแสดง และแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมความดันโลหิตสูง แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ความรู้ที่ทุกคนช่วยกันนำเสนอนั้น เป็นความรู้ที่ครอบคุลมและมีคุณค่า อาทิ สาเหตุ คือ 1. กินเค็ม 2. ความเครียด 3. ภาวะอ้วน 4. ดื่มสุรา 5. ไขมันในเลือดสูง 6. ไม่ออกกำลังกาย 7. กินมัน 8.นอนไม่หลับ/นอนกรน 9. สูบบุหรี่ 10. กินผงชูรสมาก 11. กินอาหารหวาน 12. อายุมาก 13.กรรมพันธุ์

          อาการ คือ 1. เวียนศีรษะเป็นบางครั้ง 2. นอนไม่หลับ 3. ชาที่แขน,ขา 4. ปวดท้ายทอย 5. ปวดศีรษะ 6. เวียนศีรษะ หน้ามืด มึนงง 7. ใจสั่น,คลื่นไส้ 8. ตาตึงๆบวมรอบๆตา 9. โคลงเคลง 10. วูบเวลาเปลี่ยนท่าทาง 11. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

          การปฏิบัติตัว คือ 1. ลดอาหารเค็ม 2. ลดความครียด 3. ออกกำลังกาย 4. ลดอาหาร เนื้อสัตว์ที่มีไขมัน 5. ลดอาหารทอด 6. หลีกเลี่ยงการเติมน้ำปลา 7. ไม่กินอาการหวานจัด มัน เค็ม 8. ไม่กินเนื้อสัตว์       9. งดรับประทานอาหารทะเลยกเว้นปลา งดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง 10. ทานอาหารที่มีกากใยสูง        11. ปรับอารมณ์ 12. งดดูทีวีที่มีความรุนแรง ทำให้เกิดความเครียด 13. หลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่ผงชูรส ผงฟู    14. หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม 15. งดบุหรี่ เหล้า 16. คิดบวก (คิดแต่สิ่งดีดี) 17. ไม่นอนดึก นอนให้หลับ                18. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่งดยาเอง 19. สมุนไพร 20. ไม่ให้ท้องผูก
และเพื่อให้จำง่ายในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง คือเรื่อง  1. การออกกำลังกาย 2. การกินอาหารให้ถูกต้อง 3. การควบคุมอารมณ์/จิตใจ 4. การรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ปรับขนาดยาเอง 5. การอยู่ในสิ่งแวดล้อมและอากาศที่ดี ไม่เย็นจนเกินไป ไม่ร้อนจนเกินไป 6. การสังเกตอาการ/การเปลี่ยนแปลงของตนเอง

          สำหรับวันนี้กลุ่มเน้นการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการรับประทานอาหาร ทำให้ได้แง่คิดดีๆ ดังนี้ “อาหารประเภทผัก เพราะกินผักช่วยให้ย่อยง่าย ไม่เพิ่มไขมัน กินแล้วรู้สึกสบาย เบา แต่ถ้าเรากินเนื้อสัตว์มากๆเราจะรู้สึกปวดเมื่อย ไม่อยากลุก ผักก็ควรจะกินให้เป็น 2 เท่าใน 3 ส่วน ของแต่ละมื้อ รวมผลไม้ด้วย และไขมันยิ่งต้องงดเลยในผู้สูงอายุ ไข่แดงก็ควรงด อย่างดีก็อาทิตย์ละ1 ลูก สำหรับคนที่ไม่เป็นอะไรเลย แต่ถ้าคนที่เป็นโรคหัวใจต้องงด ผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนต้องงด เพราะจะมีอาการทันทีเลยถ้ากินทุเรียน”

  1. “ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ผลไม้ ไขมันแต่น้อย ผู้สูงอายุก็ควรทานผักเยอะหน่อย อย่างปลานี่ก็ควรทานปลาทู ขนาดกลาง อย่างน้อยวันละ 2 ตัวน่าจะได้”
  2. “หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ต้มหรือนึ่ง หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง เพราะมีโซเดียม”
  3. “รับประทานผัก ผลไม้เยอะๆ เช่น ชมพู่ ฝรั่ง เนื่องจากกากเยอะ หวานน้อย”
  4. “ควรทานข้าวซ้อมมือ เพราะสารอาหารมาก กากใยสูงทำให้ทานอาหารได้น้อย ข้าวขาวจะทานได้มากกว่า ดูดซึมได้เร็วกว่า เพราะฉะนั้นจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นเร็วกว่า”
  5. “งดเหล้า บุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ดื่มกาแฟได้วันละแก้วเดียว”
  6. “อาหารเย็นทานข้าวน้อยๆ ทานกับเยอะ เน้นผัก รู้สึกอิ่มก็ควรเลิกทาน มื้อเช้าและกลางวันทานตามสบาย ไม่ควรงดอาหารมื้อเช้าและเย็น”
    “ดื่มน้ำมากๆ”

         และได้แนะนำการกินสมุนไพร คือ แปะตำปึง  ว่านหง๊อก  คื่นฉ่าย สรรพคุณต้องกินสด หรือคั้นน้ำดื่ม กระเทียม ใบบัวบก กระเจี๊ยบ ส่วนกลีบเลี้ยง เอามาต้มสดๆ

          ส่วนการกินเกลือหรืออาหารที่มีรสเค็ม สมาชิกในกลุ่มได้นำเสนอเคล็ดลับที่ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ ดังนี้

  1. “ทานเกลือได้วันละไม่เกิน 1 ช้อนชา ไม่เติมเกลือเลย ไม่เติมน้ำปลาเลย”
  2. “ที่สำคัญที่สุดเราควรทานอาหารที่เราปรุงเอง เพราะเราสามารถที่จะรู้ว่าเราใส่อะไรแค่ไหน จึงจะพอดีกับเรา อย่างน้ำปลาก็ไม่ต้องตัดจุกให้มันกว้าง ถ้าจุกกว้างมันก็เยอะกระฉอกทีนึง ก็เค็มปี๋ไปเลย แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือ เลิกทานอาหารนอกบ้าน หรือหลีกเลี่ยงการทานอาหารนอกบ้าน เพราะว่าอาหารนอกบ้านไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยว หรือข้าวแกงอะไรเต็มไปด้วยโซเดียมทั้งนั้น ผงชูรสมากมาย
  3. “เรื่องการที่เราปรุงอาหารมันจะใส่มากใส่น้อยมันอยู่ที่การชิม เราก็ชิมดูอย่าให้มันเค็มมาก ให้มันมีรสพอดี ให้พอมีรส ก็ยังดีกว่าคนที่กินเค็มจัด ในขณะที่เรามีภาวะความดันโลหิตสูง เราก็ลดความพอใจตรงนั้นลง”

          ก่อนจากกันในวันนั้น รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญได้สรุปประเด็นที่ได้พูดคุยกัน และสิ่งที่ประทับใจมากๆ คือ ทุกคนกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ได้ร่วมกันตั้งใจไว้ คือ การควบคุมค่าความดันโลหิตให้อยู่ในระดับไม่เกิน 130/80 มม. ปรอท และจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอาหารในวันนี้ไปปฏิบัติ ได้แก่ การไม่กินเค็ม กินเค็มไม่เกิน 1 ช้อนชา กินอาหารไม่มัน หลีกเลี่ยงพวกกะทิ ไม่กินหวานมาก พยายามเติมน้ำตาลน้อยๆ กินอาหารที่มีกากเยอะๆ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ เช่น ฝรั่ง ชมพู่ หรือผลไม้ที่ไม่หวาน กินหรือดื่มน้ำสมุนไพร เช่น คื่นฉ่าย กระเทียม กระเจี๊ยบ (กลีบเลี้ยง) ใบบัวบก เป็นต้น โดยทุกคนจะผลที่ได้จากการปฏิบัติในครั้งนี้ มาเล่าสู่กันฟังในการประชุมกลุ่มครั้งต่อไปอีก 1 เดือน

          ท้ายที่สุดนี้ ดิฉันหวังว่าผู้ที่สนใจคงจะได้รับประโยชน์จากกลุ่มของพวกเรา ซึ่งจะมีสิ่งดีดีและความประทับใจมาเล่าอย่างต่อเนื่องตลอดไป

วิไลวรรณ  ทองเจริญและทีมวิจัย

 

 

 
หน้าหลัก