คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
 

การวิจัย

KM ภาควิชาและสำนักงาน
เรื่อง การพัฒนาอาจารย์และการจัดการเรียนการสอน

         ภาควิชาการพยาบาลรากฐานได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ "การประกันคุณภาพภาควิชาฯ" เมื่อวันพุธ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 12.00 - 13.30 น. ณ ห้อง 1004 อาคารพระศรีพัช- รินทร ชั้น 10 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์ เป็นผู้นำกิจกรรม รองศาสตราจารย์สมจินต์ เพชรพันธุ์ศรี เป็นคุณอำนวย และอาจารย์เสาวลักษณ์ สุขพัฒนศรีกุล/ รองศาสตราจารย์พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร เป็นคุณลิขิต สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ในปีที่ผ่านมา ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน ได้รับการประกันคุณภาพภายในระดับภาควิชาแบบ ยอดเยี่ยม โดยมีจุดแข็ง โอกาสในการพัฒนา ดังตาราง
จุดแข็ง โอกาสพัฒนา
  • มีระบบกลไกการบริหารงานภาควิชาฯที่ครบวงจร
  • มีการใช้กลวิธีการจัดการความรู้ (KM) ของภาควิชามาพัฒนาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน อย่างต่อเนื่อง
  • มีการบูรณาการระหว่างงานบริการวิชาการกับงานวิจัย และใช้ผลงานวิจัยมาบูรณาการในการเรียนการสอน หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ
  • ควรมีการบูรณาการการเรียนการสอน กับการบริการวิชาการแก่สังคม และนำไปสู่การวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
  • ควรมีการนำผลการประเมินผลการดำเนินงาน ตามแผนภาควิชาของปีงบประมาณ 2555 ที่ต้องพัฒนาปรับปรุง มาจัดทำแผนบริหารภาควิชา ในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งจะทำให้ครบวงจรการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (CQI) อีกวงรอบหนึ่ง
  • การประกันคุณภาพระดับภาควิชาต้องมีความสอดคล้อง กับการประกันคุณภาพระดับคณะและ ระดับมหาวิทยาลัย โดยใช้เกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตามพันธกิจหลัก 5 ด้าน คือ ด้านการบริหาร การศึกษา การวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ เน้นเฉพาะประเด็นการประกันคุณภาพด้านการศึกษา ซึ่งการทำงานให้สอดคล้องกับการประกันคุณภาพด้านการศึกษา ต้องมีลักษณะ ดังนี้

ด้านกระบวนการ

ภาควิชามีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานรับผิดชอบด้านการศึกษา โดยคณะกรรมการ ได้ปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการประจำปี ตลอดจนมีต้องมีเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยการประกันคุณภาพการศึกษาเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดูจากเอกสารต่าง ๆ คือ

1) มีระบบและกลไกการประกันคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทุกหลักสูตร (รายวิชา)

2) มีรายวิชาของทุกหลักสูตร มีรายละเอียดของรายวิชาและของประสบการณ์ภาคสนาม (ถ้ามี) ก่อนการเปิดสอนในแต่ละภาคการศึกษา ตามที่กำหนดในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ

3) มีรายวิชาของทุกหลักสูตรที่ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติทั้งในและนอกห้องเรียนหรือจากการทำวิจัย

4) มีการให้ผู้มีประสบการณ์ทางวิชาการหรือวิชาชีพจากหน่วยงานหรือชุมชนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน

5) มีการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาจากการวิจัย หรือจากกระบวนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

6) มีการประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ทุกรายวิชา ทุกภาคการศึกษา โดยผลการประเมินความพึงพอใจแต่ละรายวิชาต้องไม่ต่ำกว่า 3.51 จากคะแนนเต็ม 5

7) มีการพัฒนาหรือปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน กลยุทธ์การสอน หรือการประเมินผลการเรียนรู้ ทุกรายวิชา ตามผลการประเมินรายวิชา

ด้านผลลัพธ์

ผลลัพธ์ของการประกันคุณภาพด้านการศึกษา วัดจากผลงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาโท (สาขาที่ภาควิชาฯ รับผิดชอบ) ที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ (สมศ.3) ซึ่งภาควิชามีหลักสูตรบัณฑิตศึกษาในความรับผิดชอบ คือ หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงต้องดูว่า ในแต่ละปีมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาทั้งหมดกี่คน และมีการนำเสนอผลงานหรือไม่ ซึ่งการนำเสนอผลงานมีเกณฑ์ค่าน้ำหนัก ดังนี้
ค่าน้ำหนัก ระดับคุณภาพงานวิจัย
0.25 มีการเผยแพร่สู่สาธารณะในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
0.50 มีการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ (proceedings)
0.75 มีการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (proceedings) หรือ มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ
1.00 มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

• ข้อสรุปจากการทำ KM:

1) ขอให้แต่ละรายวิชาได้มีการจัดทวนสอบด้วย เพื่อเป็นการทบทวนว่ามีการจัดการเรียนการสอนและมีการวัดผลตาม มคอ. หรือไม่

2) ขอให้อาจารย์นำผลการประเมินของรายวิชาที่ตนรับผิดชอบสอนในปีนี้มาปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนในปีการศึกษาต่อไป

3) ขอให้หัวหน้าวิชาทุกวิชาเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเรียนการสอนในแฟ้มรายวิชาด้วย และเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนการสอนของรายวิชา ขอให้คืนแฟ้มกลับมายังภาควิชาด้วย

4) การประเมินอาจารย์ผู้สอน ให้ใช้แบบประเมินการสอนภาคทฤษฎีโดยอาจารย์ (ป.1) โดยคณะกรรมการดำเนินงานรับผิดชอบด้านการศึกษาควรจัดตารางประเมินอาจารย์ด้วย

5) คณะกรรมการดำเนินงานรับผิดชอบด้านการศึกษาของภาควิชาควรประชุมคณะกรรมการเพื่อปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนปัญหาและข้อเสนอแนะในแต่ละรายวิชา

6) ควรมีการเก็บเอกสารครั้งเดียวที่สามารถใช้งานได้ทั้งการประกันคุณภาพภายใน และการประกันคุณภาพจากสภาการพยาบาล

7) ภาควิชาควรจัดทำแผนผัง (Flow chart) ให้ชัดเจนสำหรับการเก็บหลักฐานในการทำประกันคุณภาพ เพื่อให้อาจารย์ทราบและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

 

 
หน้าหลัก