คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
 

การวิจัย

KM ภาควิชาและสำนักงาน
เรื่อง ประสบการณ์จากการฝึกอบรม

         ภาควิชาการพยาบาลรากฐานจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ "ประสบการณ์จากการฝึกอบรมประสบการณ์โครงการพัฒนาจิตและการดูแลระยะสุดท้าย" เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 เวลา 12.00 – 13.30 น. ณ ห้อง 508 อาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร ชั้น 5 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ของคณาจารย์ภายในภาควิชาการพยาบาลรากฐาน

ประสบการณ์จากการฝึกอบรมโครงการพัฒนาจิตและการดูแลระยะสุดท้าย

จากประสบการณ์การเข้าร่วมการอบรมผลการอบรมโครงการพัฒนาจิตและการดูแลระยะท้าย ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ศรีเวียง ไพโรจน์กุล เป็นประธานพัฒนาเครือข่ายผู้ป่วยระยะท้าย ลักษณะงาน คือ การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์ผู้ป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคมะเร็ง ฯลฯ การดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ กระบวนการดูแลจะเริ่มดูแลตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นครั้งแรกจนกระทั่งอยู่ในระยะท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย โดยเฉพาะความปวด รวมทั้งการดูแลครอบครัวหรือผู้ดูแลให้เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสภาพความเปล่ียนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด เท่าที่จะทําได้ในเวลาที่เหลืออยู่

องค์ประกอบของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง ได้แก่

1. Symptoms management : Pain

2. End of life

3. Family care : Burden

4. Grief and Bereavement

5. Network :hospital-based and community-based

6. Innovation

1. Symptoms management : Pain

เนื่องจากผู้ป่วยระยะท้ายส่วนใหญ่จะทุกข์ทรมานจากอาการปวดมาก การดูแลในระยะนี้จึงมุ่งเน้นเพื่อการบรรเทาทุกข์ทรมานจากความปวด และทำให้ผู้ป่วยมีความสุขสบายมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ในช่วงท้ายของชีวิต ยาที่ใช้รักษาอาการปวดที่นิยมใช้คือ มอร์ฟีน (morphine) ซึ่งจะฉีดให้ผู้ป่วยในขนาดสูงเพื่อ titrate dose ยาในกระแสเลือดสูง เช่น ให้มอร์ฟีนจำนวน 50 amp ในครั้งเดียว หรือมากกว่า ส่วนอาการอื่นๆ แนวทางการรักษาจะเป็นในลักษณะ symptoms management

2. End of life

การดูแลในระยะนี้ เน้นการดูแลด้านจิตวิญญาณ ปัจจุบันพบว่า การดูแลส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของพยาบาล แต่พยาบาลไม่น้อยยังขาดประสบการณ์การดูแลด้านจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นบทบาทอิสระของพยาบาล แต่ทั้งนี้ ทางโครงการพัฒนาจิตและการดูแลระยะท้าย ได้วางแผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายพุทธิกา และพระไพศาล วิศาโล เพื่อให้การดูแลด้านจิตวิญญาณ เพื่อชาวยให้ผู้ป่วยเผชิญความตายอย่างสงบ นอกจากนี้ ยังร่วมกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการทำ Hospice care ซึ่งหลักการจะเน้นที่ตัวผู้ป่วยเป็นหลัก โดยลดทอนความทุกข์และตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในทุกด้านเท่าที่จะทำได้ การดูแลในสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายคาดว่าจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และสบายเหมือนกับอยู่บ้านของตน รวมทั้งสามารถให้ญาติมาเยี่ยมได้

3. Family care : Burden

การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองจะให้ความสำคัญทั้งผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก ผลกระทบของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายต่อครอบครัว ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่
1. ภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่สูง
2. ความเครียดจากการดูแล
3. ผลต่อสุขภาพ เนื่องจากภาระการดูแลผู้ป่วยอาจทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง
4. ภาวะซึมเศร้า
5. ความเศร้าโศก หรือความรู้สึกผิด

ดังนั้น นอกจากจะดูแลผู้ป่วยแล้วยังต้องดูแลครอบครัวแบบองค์รวมด้วย

4. Grief and Bereavement

ภายหลังการเสียชีวิตของผู้ป่วยแล้วพยาบาลจำเป็นต้องดูแลครอบครัวหรือผู้ดูแลในระยะต่อมาด้วย เนื่องจากครอบครัวหรือผู้ดูแลซึ่งมีการสูญเสีย จะรู้สึกเศร้าโศรก เสียใจ อาจรู้สึกผิด อาจโทษตัวเองที่ดูแลผู้ป่วยไม่ดี เกิดภาวะซึมเศร้า หรือต้องการฆ่าตัวตายได้

5. Network : Hospital- based และ community-based

การสร้างเครือข่ายไปยังโรงพยาบาลชุมชนจะทำให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้รับการดูแลต่อเนื่อง โดยพัฒนา ระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยใช้โรงพยาบาลและชุมชนเป็นฐาน ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนา คือ
1) การพัฒนาความรู้และทักษะพื้นฐานให้กับบุคลากรและจิตอาสา
2) การพัฒนาระบบงานในโรงพยาบาลและชุมชน
3) การพัฒนาระบบข้อมูลและการส่งต่อ
4) การพัฒนาระบบยาแก้ปวด

ซึ่งการดำเนินการในขณะนี้ ที่โรงพยาบาลจะมีแพทย์และพยาบาลไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งก่อนไปเยี่ยมจะมีการประชุม (conference) เกี่ยวกับการวางแผนการดูแลผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะเรื่องการใช้ยาแก้ปวดของผู้ป่วย

ตัวอย่างกรณีศึกษา ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยจะมียามอร์ฟีนฉีดเองที่บ้าน โดยให้ญาติที่ได้รับการฝึกการฉีดยาจากโรงพยาบาลเป็นผู้ฉีดให้ โดยฉีดเข้าที่ชั้นใต้ผิวหนัง พยาบาลเยี่ยมบ้านจะสอบถามอาการโดยทั่วไป สอบถามเรื่องปัญหาจากการใช้ยาและตรวจสอบการใช้ยามอร์ฟีน เป็นต้น ในการเข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านนั้น ทีมจากโรงพยาบาลจะประสานงานกับพยาบาลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อเยี่ยมผู้ป่วย และวางแผนการดูแลร่วมกัน

6. Innovation

ในการเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้าย พยาบาลเยี่ยมบ้านจะมี Application Line เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาแก่ผู้ป่วยหรือข้อมูลในการตอบคำถามของผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมที่พยาบาลดัดแปลง เช่น เก้าอี้ที่มีรูตรงกลางสำหรับแขวนถุงรองรับน้ำปัสสาวะ ทำให้ถุงรองรับน้ำปัสสาวะไม่วางกับพื้นและป้องกันน้ำปัสสาวะรั่วไหลออกมาได้ เป็นต้น

ผู้ลิขิต

อาจารย์วิภาวี หม้ายพิมาย
อาจารย์ทีปภา แจ่มกระจ่าง

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 

 

 

 
หน้าหลัก