คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
 

การวิจัย

KM ภาควิชาและสำนักงาน
เรื่อง การจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล: วิธีการสอนและกลุ่มกิจกรรม

         ภาควิชาการพยาบาลรากฐานได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง การจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล: วิธีการสอนและกลุ่มกิจกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา 12.30-13.30 น. ณ ห้อง 508 คณะพยาบาลศาสตร์ ศาลายา โดยมีรองศาสตราจารย์ปรางค์ทิพย์ อุจะรัตน เป็นผู้นำกิจกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์ เป็นคุณอำนวย และอาจารย์ทีปภา แจ่มกระจ่าง เป็นคุณลิขิต โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

         การจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาลเพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มุ่งหวัง โดยจะเน้นในรูปแบบของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)ซึ่งจะทำได้สำเร็จต้องมีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักศึกษา บทบาทของครู และบทบาทของนักศึกษา การสอนแบบ Team – Based Learning :TBL เป็นรูปแบบการสอนรูปแบบหนึ่งที่เน้น Active learning ซึ่งต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนี้

(1) ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน
(2) การจัดกิจกรรมให้น่าสนใจ ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย
(3) การสร้างบรรยากาศหรือสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง
(4) การสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้
(5) ความเข้าใจผู้เรียน ภูมิหลังของผู้เรียน
(6) การเรียนการสอนที่ดีเป็นพลวัตร (dynamic) กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลาทั้งในด้านการจัดกิจกรรม การสร้างบรรยากาศ รูปแบบเนื้อหาสาระ เทคนิค วิธีการ
(7) การวางแผนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ

การวางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนตามกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Team – Based Learning :TBL ดังนี้

1. การมอบหมายงาน

- ให้นักศึกษาทำความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนคือ 1) หลักและการประเมินสัญญาณชีพ 2) หลักและวิธีการช่วยให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและให้เลือด 3) หลักและวิธีการให้อาหารทางสายชนิด Bolus เพื่อการร่วมทำกิจกรรม ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์

- ศึกษาการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามรูปแบบ TBL ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์

2. จัดทำแผนการสอน จัดกระบวนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน ตามรูปแบบการใช้TBL ที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาที่ศึกษา ได้แก่

การทำ Test Individual Readiness Assurance Test (iRAT) โดยให้นักศึกษาอ่านหนังสือมาก่อนล่วงหน้า โดยกำหนดหัวข้อให้นักศึกษาศึกษามาล่วงหน้าก่อน มีเอกสารการสอน ตำราที่เกี่ยวข้องให้นักศึกษา ล่วงหน้าก่อน 1 สัปดาห์ก่อนเรียน เพื่อให้นักศึกษาอ่านและศึกษาหาความรู้มาก่อน เป็นการฝึก self-learning เมื่อมาเข้าชั้นเรียน นักศึกษาจะทำ Test Individual accountability (iRAT) จำนวน 20 ข้อ เป็นการทดสอบความรู้พื้นฐาน ใช้เวลา 30 นาที มีการเก็บคะแนนเพื่อดูว่านักศึกษามีความรู้หรือไม่ เป็นการทำแบบทดสอบแต่ละบุคคล เมื่อทำเสร็จแล้วให้เข้ากลุ่ม

วิธีการทำการตอบโต้กลับ (Immediate Feedback Technique) ของอาจารย์

Test Individual Readiness Assurance Test มีการประกาศคะแนน โดยนักศึกษาจะทราบคะแนนของตนเอง ซึ่งจะช่วยบอกว่านักศึกษาได้เตรียมความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกัน นักศึกษาจะรู้สถานการณ์กลุ่มว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ทำให้เกิดการกระตุ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์

การทำ Group Readiness Assurance Test (gRAT) ให้นักศึกษาทำเป็นกลุ่ม โดยอาจารย์ใช้ข้อสอบชุดเดิมและกระดาษคำตอบใหม่ ให้เวลา 15 นาที และให้นักศึกษาตอบคำตอบที่เป็นความคิดเห็นรวม ให้ช่วยกันหาคำตอบ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีการเก็บคะแนนเช่นเดียวกัน โดยแจกกระดาษคำตอบกลุ่มละ 1 แผ่น ซึ่งสมาชิกในกลุ่มแต่ละคนจะต้องมีการอภิปราย ซักถาม และตอบคำถามแก่สมาชิก ซึ่งจะทำให้เกิดความรับผิดชอบที่ชัดเจนต่อตนเองและกลุ่ม ทั้งยังสามารถอธิบายถึงความรู้ที่ตนเองมีอยู่ให้แก่เพื่อนได้

บทบาทอาจารย์ จะต้องมีการตอบสนองต่อคำตอบจากแบบทดสอบอย่างทันทีทันใด (Immediate Feedback Technique) ซึ่งวิธีการนี้ อาจารย์จะเฉลยและบอกเหตุผลที่ถูกว่าเพราะอะไร การให้เหตุผลของคำตอบทีละข้อจะมีข้อดี ทำให้นักศึกษาจำเนื้อหาในการเรียนได้มากขึ้น

การทำ Application case

หลังจากได้ความรู้ทางทฤษฎีแล้ว นักศึกษาจะต้องช่วยกันศึกษา กรณีศึกษา 1 กรณีศึกษา โดยให้กลุ่มช่วยกันอธิบาย วิเคราะห์ สังเคราะห์ กรณีศึกษา โดยให้เวลา 30 นาที โดยเน้นให้นักศึกษาใช้ความรู้จาก gRAT มาอภิปรายและแก้ปัญหาคำตอบในกลุ่ม มีการให้คะแนน จากนั้น อาจารย์ก็เฉลยและ feed back ในทันทีเพื่อให้นักศึกษาเกิดการพัฒนาตนเอง จากนั้น สุ่มกลุ่มออกมาให้อภิปรายเหตุผลของคำตอบ อาจารย์จะเฉลยและเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดเพื่อให้ได้คำตอบที่สมบูรณ์

วิธีการทำการตอบโต้กลับ (Immediate Feedback Technique) ของอาจารย์

คำตอบของนักศึกษาในการแก้ปัญหาให้กับกรณีศึกษานั้น มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรที่นำเสนอมา เพื่อให้นักศึกษาได้ปรับแก้ทันทีทันใด

3. การแบ่งกลุ่มย่อยนักศึกษา

3.1 แบ่งกลุ่มย่อยนักศึกษา กลุ่มละ 6 คน โดยพิจารณาคุณสมบัติของสมาชิกในกลุ่มจากผลการ เรียน ให้มีการกระจายออกไปทั่วทุกกลุ่ม และกลุ่มนี้จะอยู่ด้วยกันตลอดเทอม

3.2 ให้นักศึกษาจับคู่กันเอง ภายในกลุ่ม 6 คน ในลักษณะ Buddy เพื่อให้ช่วยกันรับผิดชอบ การเรียนต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวก่อนเพื่อให้มีความรู้ในการอภิปรายกันในกลุ่มเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า เพื่อนช่วยเพื่อน เกิดความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

4. ลักษณะงานกิจกรรม

- กิจกรรมรายบุคคลเป็นการค้นคว้าและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากทรัพยากรการเรียนรู้

- กิจกรรมกลุ่มต้องเป็นงานที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์กลุ่ม (group interaction) และกระบวนการตัดสินใจ ได้แก่ ข้อสอบ gRAT ไม่ควรยากเกินไป ส่วนกรณีศึกษาไม่ควรยากและยาวเกินไปเช่นกัน เพื่อให้เกิดการอภิปรายกันในกลุ่มมากๆ สรุปการเรียนรู้

ผู้ลิขิต
อ. ทีปภา แจ่มกระจ่าง 

ผู้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

1. ผศ.ดร. นารีรัตน์ จิตรมนตรี
2. รศ. ดร. วิไลวรรณ ทองเจริญ
3. รศ. ดร. วีนัส ลีฬหกุล
4. รศ. ปรางทิพย์ อุจะรัตน
5. ผศ. ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์
6. รศ. พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร
7. ผศ.ดร. เสาวลักษณ์ จิรธรรม
8. ผศ. ดร. วิราพรรณ วิโรจน์รัตน์
9. อ. อรุณรัตน์ คันธา
10. อ.จิรวรรณ มาลา
11. อ. วิภาวี หม้ายพิมาย
12. อ.เสาวลักษณ์ สุขพัฒนศรีกุล
13. อ.จิรวรรณ เผื่อแผ่
14. อ.ทีปภา แจ่มกระจ่าง

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

การนำองค์ความรู้ไปใช้

         วิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาลได้เลือกหัวข้อการสอนแบบ Team – Based Learning :TBL ใน 3 หัวข้อ คือ 1. หลักและการประเมินสัญญาณชีพ 2. หลักและวิธีการช่วยให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและให้เลือด 3. หลักและวิธีการให้อาหารทางสายชนิด Bolus

         ภายหลังการสอนแบบทีม นักศึกษามีความพึงพอใจเนื่องจากมีการพัฒนาระบบการเรียนรู้ใหม่ โดยได้แบ่งปันความคิดเห็นในเรื่องที่ศึกษาและวิเคราะห์หาแนวทางในการปฏิบัติได้หลากหลาย ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มที่ทำงานร่วมกัน ทำให้ได้รู้จักการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง และยังรู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองรวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้ทำให้ได้ความรู้มากขึ้น ได้เข้าใจเนื้อหาที่เรียนมากขึ้น ได้รู้จักคิดวิเคราะห์หาสาเหตุและรู้วิธีการแก้ไขปัญหา ได้แนวในการคิดวิเคราะห์ และศึกษาในเนื้อหาต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้ สามารถนำไปใช้ในการเรียนต่อไปได้

 

ผู้ติดตามผลการนำองค์ความรู้ไปใช้
ทีปภา แจ่มกระจ่าง

 

ผู้นำองค์ความรู้ไปใช้

1. รศ. ปรางทิพย์ อุจะรัตน
2. ผศ. ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์
3. รศ. พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร
4. ผศ.ดร. เสาวลักษณ์ จิรธรรม
5. อ. อรุณรัตน์ คันธา
6. อ.จิรวรรณ มาลา
7. อ. วิภาวี หม้ายพิมาย
8. อ.เสาวลักษณ์ สุขพัฒนศรีกุล
9. อ.จิรวรรณ เผื่อแผ่
10. อ.ทีปภา แจ่มกระจ่าง

 

 

 

 

 
หน้าหลัก