คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
 

การวิจัย

KM ภาควิชาและสำนักงาน
เรื่อง ถอดบทเรียนผลสำเร็จของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2557 และปี 2558

         ภาควิชาการพยาบาลรากฐานได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง ถอดบทเรียนผลสำเร็จของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2557 และปี 2558 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 5 คณะพยาบาลศาสตร์ ศาลายา เวลา 12.00-14.00 น. โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นารีรัตน์ จิตรมนตรี เป็นผู้นำกิจกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์ เป็นคุณอำนวย และอาจารย์จิราวรรณ เผื่อแผ่ เป็นคุณลิขิต โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

เรื่องที่ 1 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาพยาบาล ระหว่างการสอนแบบบรรยาย และการสอนแบบการเรียนรู้โดยใช้ทีม: การศึกษานำร่อง

: ปรางค์ทิพย์ อุจะรัตน, เสาวลักษณ์ สุขพัฒนศรีกุล, วิภาวี หม้ายพิมาย ตีพิมพ์ใน วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2558

โดยรองศาสตราจารย์ปรางค์ทิพย์ อุจะรัตน ได้นำเสนอเกี่ยวกับการทำวิจัย และวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Team Based Learning ดังนี้

องค์ประกอบสำคัญ

องค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ที่ทำให้การจัดการเรียนการสอนแบบ Team Based Learning ในรายวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล (พยคร 209) ประสบความสำเร็จ คือ
1) การจัดทีม (Group Formation) มีความเหมาะสม โดยแบ่งกลุ่มนักศึกษาประมาณกลุ่มละ 5-6 คนตามเกรดเฉลี่ยสะสม คงกลุ่มเดิมตลอดการเรียนวิชานี้เพื่อให้การสื่อสารเปิดกว้าง
2) นักศึกษากระตือรือร้นรับผิดชอบงานของตนเองและงานกลุ่ม (Accountable)
3) การทำแบบฝึกหัดสถานการณ์ประยุกต์ (Assignment Quality) ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ภายกลุ่มดี มีการตัดสินใจร่วมกันและบันทึกในแบบฟอร์มที่ง่าย
4) นักศึกษาได้รับการตอบโต้กลับ (feedback) ในระยะเวลาที่เหมาะสมรวดเร็ว

การออกแบบการจัดการเรียนการสอน

ก่อนเปิดเรียน

1) แบ่งเนื้อหาตามแนวคิดหลักของวิชา
2) ระบุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้และจัดทำเป็นใบงาน
3) ส่งข้อมูลตำรา เอกสาร สื่อ ให้นักศึกษาได้เตรียมตัวก่อนเรียน
4) สร้างแบบทดสอบ Readiness Assurance Test เป็นข้อสอบแบบตัวเลือก เน้นแนวคิด ไม่เน้นที่รายละเอียดของเนื้อหา เพื่อทดสอบความรู้ของผู้เรียนในการเตรียมตัวก่อนเข้าชั้นเรียน
5) สร้างแบบฝึกหัดที่เน้นการประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชา มากขึ้น
6) ออกแบบระบบการวัดประเมินผล

เปิดเรียน

1) ปฐมนิเทศวิชาชี้แจงวิธีการในการเรียนให้นักศึกษารับทราบ
2) 1 สัปดาห์ก่อนเข้าชั้นเรียน มอบหมายงานตามใบงาน แจ้งสมาชิกทีมให้นักศึกษาทราบ
3) การเข้าชั้นเรียน นักศึกษาทำแบบทดสอบ IRAT
4) ให้นักศึกษาทำแบบทดสอบกลุ่ม (Group Readiness Assurance Test; GRAT) โดยใช้ข้อสอบชุดเดิม แต่กระดาษคำตอบใหม่ ให้ตอบตามความคิดเห็นรวมของทีม
5) อภิปรายประเด็นที่นักศึกษาสงสัย
6) ทำแบบฝึกหัดแบบตัวเลือก 4 ตัวเลือก หรือเป็นสถานการณ์ที่เน้นการประยุกต์และคิดวิเคราะห์
7) ให้นักศึกษานำเสนองานกลุ่ม
8) อาจารย์สรุปประเด็นสำคัญ
9) นักศึกษาประเมินเพื่อนในการมีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม (Peer Review)

การประเมินผล

สัดส่วนการให้คะแนนประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ผลการทำงานรายบุคคล (IRAT) ผลการทำงานกลุ่ม (GRAT และแบบฝึกหัดประยุกต์) และผลการทำงานเป็นทีม (Peer Review)

บทเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:

1) การแบ่งกลุ่มนักศึกษาโดยใช้ GPA เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนดีช่วยเหลือนักศึกษาที่เรียนอ่อน
2) การเตรียมขอคำรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนพร้อมกับการขอทุนสนับสนุนการวิจัย ช่วยให้เริ่มเก็บข้อมูลได้ทันเวลาที่นักศึกษาเริ่มเรียน
3) การประเมินนักศึกษาเป็นกลุ่มโดยอาจารย์ผู้สอนเพียงท่านเดียว ด้วยวิธีใช้กระดาษคำตอบ 4 ตัวเลือกเป็น 4 สี ประกอบกับเฉลยข้อสอบที่มีอยู่
4) นักศึกษากระตือรือร้นในการเรียน ไม่หลับในชั้นเรียน สังเกตเห็นการขีดตำราที่อ่านมาก่อนเข้าชั้นเรียน

เรื่องที่ 2 Action Research Development of a Fall Prevention Program for Thai Community-dwelling Older Persons (การวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาโปรแกรมป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุไทยที่อาศัยอยู่ในชุมชน)

: Narirat Jitramontree, Sirirat Chatchaisucha, Thanomkwan Thaweeboon, Benjamas Kutintara, Sunee Intanasak
ตีพิมพ์ใน Pacific Rim International Journal Nursing Research, 2015

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ จิตรมนตรี ได้นำเสนอเกี่ยวกับงานวิจัย ดังนี้

- เป็นการพัฒนาโปรแกรมป้องกันหกล้มในผู้สูงอายุในชุมชนที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ (Age Friendly Program) ที่ยังไม่มีผู้ใดพัฒนามาก่อน
- ประสบการณ์การทำ focus group พบว่าผู้สูงอายุที่มานั่งรอการเริ่มกิจกรรม ได้เรียนรู้จากกันและกัน (mutual learning) เกี่ยวกับสาเหตุของการหกล้ม ทำให้ระมัดระวังมากขึ้น
- คุณค่าของการโทรกระตุ้นเตือนผู้สูงอายุให้ระวังการหกล้ม (telephone eminder) ภายหลังการอบรม สร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุปฏิบัติตาม ด้วยความรู้สึกว่า "พยาบาล มาใช่ลูกหลาน ยังห่วงใย อุตส่าห์โทรมาเตือน"

บทเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:

1) การตีพิมพ์งานวิจัยหลายเรื่องจากงานวิจัย 1 เรื่อง ซึ่งงานวิจัยครั้งนี้ตีพิมพ์ 1 เรื่องเฉพาะกระบวนการพัฒนาโปรแกรมการป้องกันการหกล้ม และสามารถตีพิมพ์เรื่องที่ 2 เกี่ยวกับประสิทธิผลของโปรแกรมได้อีก
2) การตีพิมพ์บทความวิจัยเป็นภาษอังกฤษ ในวารสารนานาชาติ อาจารย์ทุกท่านมีศักยภาพทำได้ เพราะคณะฯมีการสนับสนุนอย่างมาก

เรื่องที่ 3 ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการจัดการตนเองของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

: จิราวรรณ เผื่อแผ่, นารีรัตน์ จิตรมนตรี, วีนัส ลีฬหกุล
ตีพิมพ์ใน วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2558

โดย ผู้ช่วยอาจารย์จิราวรรณ เผื่อแผ่ ได้นำเสนอเกี่ยวกับวิจัย ดังนี้

- เป็นการศึกษาอำนาจการทำนายของความรู้เกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัว การรับรู้สมรรถนะแห่งตน และการสนับสนุนทางสังคม ต่อพฤติกรรมการจัดการตนเอง
- พัฒนาขึ้นตามกรอบแนวคิดทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบผสมผสาน: Integrated Theory of Health Behavior Change - กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุ อายุ 60 - 79 ปีและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หัวใจและหลอดเลือดอย่างน้อย 1 ข้อ จาก General Cardiovascular Risk Profile for Use in Primary Care คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 85 คน
- ข้อเสนอแนะที่ได้จากการทำวิจัย: ความรู้เกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัว การรับรู้สมรรถนะแห่งตน และการสนับสนุนทางสังคม สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการจัดการตนเองของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ผู้ช่วยอาจารย์จิราวรรณ เผื่อแผ่ จึงวางแผนว่าจะทำการศึกษาต่อในส่วนของการพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการจัดการตนเองของผู้สูงอายุ โดยใช้ทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบผสมผสาน: Integrated Theory of Health Behavior Change เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่อไป

บทเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:

1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ จิตรมนตรี มีความเห็นว่า การเชื่อมโยงงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท กับงานวิจัยของอาจารย์ในภาควิชาฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะอยู่แล้ว จะทำให้ลักษณะงานวิจัยมีความชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น ดังเห็นได้จากงานวิจัยของผู้ช่วยอาจารย์จิราวรรณ เผื่อแผ่ ที่ได้แนวคิดมาจากความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดของ รองศาสตราจารย์ ดร.วีนัส ลีฬหกุล

2) รองศาสตราจารย์พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการมองประเด็นซึ่งเป็นรายละเอียดของข้อมูลที่ได้จากการวิจัย ซึ่งอาจถูกมองข้าม เช่น สถิติจากการคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และการรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ควรนำมาเขียนเป็นบทความ หรือประชาสัมพันธ์ในช่องทางอื่น เช่น การให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในประเด็นที่น่าสนใจ รองศาสตราจารย์ ดร.วีนัส ลีฬหกุล ให้ข้อคิดว่า แนวทางการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นประเด็นที่น่าศึกษาและเก็บข้อมูลในระยะยาว เพื่อจะสามารถพัฒนาแนวทางการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีความจำเพาะเจาะจงกับประชากรไทยมากขึ้น

เรื่องที่ 4 การกระจายและความเหลี่ยมล้ำของอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทย

: อัครเดช เกตุฉ่ำ, อรุณรัตน์ คันธา, ตวงทิพย์ ธีระวิทย์, กฤษดา แสวงดี
ตีพิมพ์ใน วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่9 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2558

โดยอาจารย์อรุณรัตน์ คันธา ได้นำเสนอเกี่ยวกับการทำวิจัย ดังนี้

- เป็นงานวิจัยที่ศึกษากี่ยวกับการกระจายและความเหลี่ยมล้ำของกำลังคนด้านการพยาบาลวิชาชีพตามภูมิศาสตร์ แบ่งเป็น 5 ส่วน คือ กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยเป็นการศึกษาการวิจัยเชิงพรรณนา โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจาก 2 แหล่งข้อมูล คือ จากโครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทย และข้อมูลรายงานบุคลากรทางการแพทย์จากระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารติดตามผลการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุข จากการศึกษาพบว่า การกระจายอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 นั้น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตรากำลังพยาบาลต่อประชากรต่ำที่สุด คือ ประชากรจำนวน 825.30-1009.38 คน ต่อพยาบาลวิชาชีพ 1 คน ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพสูงที่สุด คือ ประชากรจำนวน 240.19-430.17 คน ต่อพยาบาลวิชาชีพ 1 คน ความเหลี่ยมล้ำของอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2548 เท่ากับร้อยละ 18.91 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี พ.ศ. 25549-2550 เป็นร้อยละ 20.3 และ 20.99 ตามลำดับ หลังจากนั้นลดลง โดยในปี พ.ศ. 2551- 2552 เท่ากับร้อยละ 14.50 และ 11.42 ตามลำดับ

บทเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:

1) เป็นงานวิจัยที่มีคุณค่ามาก ได้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย มีการนำไปใช้ในการแก้ปัญหาคุณภาพการให้บริการดูแลสุขภาพของประชาชน จากอัตรากำลังของพยาบาลที่ขาดแคลนและการกระจายอัตรากำลังที่เหลื่อมล้ำกันในแต่ละพื้นที่ของประเทศ

2) เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก ที่ได้เรียนรู้และทำงานร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงและทำงานระดับชาติ อีกทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิจัย เช่น การจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ การอบรมเชิงปฏิบัติการณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและเตรียมความพร้อมของนักวิจัย

ผู้ลิขิต
อ.จิราวรรณ เผื่อแผ่ 

ผู้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ จิตรมนตรี
  2. รองศาสตราจารย์ปรางค์ทิพย์ อุจะรัตน
  3. รองศาสตราจารย์พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร
  4. รองศาสตราจารย์ ดร.วีนัส ลีฬหกุล
  5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์
  6. อาจารย์ทีปภา แจ่มกระจ่าง
  7. อาจารย์อรุณรัตน์ คันธา
  8. ผู้ช่วยอาจารย์จิรวรรณ มาลา
  9. ผู้ช่วยอาจารย์จิราวรรณ เผื่อแผ่
  10. ผู้ช่วยอาจารย์วิภาวี หม้ายพิมาย

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

 

 
หน้าหลัก