คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
 

การวิจัย

KM ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน
เรื่อง การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นครั้งคราว (Intermittent catheterization) ครั้งที่ 1

         ภาควิชาการพยาบาลรากฐานได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล ในหัวข้อ “การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นครั้งคราว (Intermittent catheterization) ครั้งที่ 1” เมื่อวันพุธที่ 24 เมษายน 2556 เวลา 12.30-14.00 น. ณ ห้อง 1004 อาคารพระศรีพัชรินทร ชั้น 10 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์เป็นผู้นำกิจกรรม  รองศาสตราจารย์สมจินต์ เพชรพันธุ์ศรี เป็นคุณอำนวย และอาจารย์วิภาวี  หม้ายพิมาย/ รองศาสตราจารย์พัสมณฑ์  คุ้มทวีพร เป็นคุณลิขิต ซึ่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้  จุดประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอน เรื่องการสวนปัสสาวะเป็นครั้งคราว เพื่อป้องกันการติดเชื้อประกอบด้วยเรื่อง  อุปกรณ์ที่ใช้ในการสวนปัสสาวะ และเทคนิคการสวนปัสสาวดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. อุปกรณ์ที่ใช้ในการสวนปัสสาวะ
1.1 ชุดสวนปัสสาวะที่ใช้ในการเรียนการสอน ประกอบด้วย ผ้าสี่เหลี่ยมเจาะกลาง 1 ผืน ชามกลม 2 ใบ พร้อมสำลีก้อนใหญ่ 6 ก้อน ปากคีบชนิดไม่มีเคี้ยว 1 อัน ชามรูปไต 2 ใบ ก๊อซ 1 ผืน และสายสวนปัสสาวะเป็นครั้งคราว หรือสายยางแดง  2-3 สาย
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ให้จัดแยกสายยางแดงออกจากชุดสวนปัสสาวะ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

1.2 น้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกก่อนการสวนปัสสาวะ ยังคงใช้น้ำกลั่น (sterile water)

2. เทคนิคการสวนปัสสาวะ

การสวนปัสสาวะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบขับถ่ายปัสสาวะ ดังนี้

2.1 ให้สวนปัสสาวะภายหลังการทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก (flushing) โดยใช้น้ำสะอาด สบู่ ฯลฯ ตามที่หอผู้ป่วยใช้ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละหอผู้ป่วย รวมทั้งมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยชายและผู้ป่วยหญิง
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้อาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติอธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าวแก่นักศึกษาด้วย

2.2 การเปิดชุดสวนปัสสาวะ

  • อนุญาตให้นักศึกษาสามารถเลือกวางชุดสวนปัสสาวะบนเตียง(ปลายเท้าผู้ป่วย)  บน over bed ฯลฯ ตามความสะดวกในการปฏิบัติงาน เนื่องจากแต่ละหอผู้ป่วยหรือการปฏิบัติในแต่ละพื้นที่มีโอกาสใช้วิธีการสวนปัสสาวะแตกต่างกัน ทั้งนี้ ในการวางชุดสวนปัสสาวะบนเตียง ให้วางห่างจากต้นขาของผู้ป่วยพอสมควร ห้ามวางชุดสวนปัสสาวะชิดต้นขาของผู้ป่วย เนื่องจากจะทำให้นักศึกษาก้มทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างขาของผู้ป่วย
  • ให้ยึดหลักการเปิดชุดสวนปัสสาวะแบบปลอดเชื้อ คือ ผ้าห่อ set ด้านบนสุดของชุดสวนปัสสาวะมีโอกาสปนเปื้อนมากกว่า 3 ด้านที่เหลือ จึงให้เปิดออกนอกตัวผู้ป่วยและออกนอกตัวของนักศึกษา ทั้งนี้ ขณะเปิดชุดสวนปัสสาวะห้ามข้ามกรายของปลอดเชื้อ

2.3 การหล่อลื่นสายสวนปัสสาวะ ให้หล่อลื่นปลายสายสวนปัสสาวะดังนี้

  • หล่อลื่นสายสวนปัสสาวะ ยาว 1 -2 นิ้ว ในผู้ป่วยหญิง
  • หล่อลื่นสายสวนปัสสาวะยาว 6 -7 นิ้ว ในผู้ป่วยชาย

ทั้งนี้ เน้นการหล่อลื่นให้ทั่ว โดยเฉพาะตรงบริเวณปลายสุดของสายสวนปัสสาวะ

2.4 การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกก่อนการสวนปัสสาวะ โดยทำความสะอาดแคมนอก (Labia majora) แคมใน (Labia minora) ด้วยสำลี (ก้อนใหญ่) ชุบน้ำกลั่น ใช้ปากคีบคีบสำลี เช็ดทำความสะอาด เริ่มจากแคมนอกด้านไกลตัว-ด้านใกล้ตัว แคมในด้านไกลตัว-ด้านใกล้ตัว ก่อนใช้สำลีก้อนที่ 5 เช็ดตรง mid line โดยให้ใช้นิ้วมือข้างที่ไม่ถนัด แหวกแคมในให้กว้างและลึก  เพื่อให้เห็นรูเปิดของท่อปัสสาวะแล้วใช้สำลีก้อนที่ 6 เช็ดตรงรูเปิดของท่อปัสสาวะดังรูป    

Intermittent catheterization

ทั้งนี้อาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติควรให้สอนนักศึกษาตระหนักถึงสภาพผู้ป่วยจริง บนหอผู้ป่วยที่อาจพบปัญหา  เช่น ผู้สูงอายุ อ้วน  มองเห็นรูเปิดท่อปัสสาวะไม่ชัดเจน ทำให้
1) การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกไม่ทั่วถึง  
2) อาจเกิดการปนเปื้อนขณะสอดสายสวนปัสสาวะได้

เพิ่มเติม ให้อาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติสอนนักศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่งของมือที่สวมถุงมือปลอดเชื้อ และท่ายืนที่เหมาะสมด้วย เช่น ระหว่างการทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกก่อนการสวนปัสสาวะนักศึกษาควรยืนตรงตำแหน่งที่สามารถใช้ข้อศอกของมือข้างที่ไม่ถนัดช่วยประคอง ให้ขาของผู้ป่วยกางออกขณะทำการสวนปัสสาวะ และมือข้างไม่ถนัดที่สวมถุงมือปลอดเชื้อ ระมัดระวังการปนเปื้อน ให้ยกสูงเหนือเอว และ ไม่สัมผัสขาหรือผ้าห่มของผู้ป่วย เป็นต้น

2.5 การป้องกันการปนเปื้อนอุปกรณ์ที่ปลอดเชื้อในชุดสวนปัสสาวะ เมื่อการทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกเสร็จ ก่อนการสวนปัสสาวะให้นักศึกษาปฏิบัติ ดังนี้

  • ใช้ปากคีบ เลื่อนชามกลมทั้ง 2 ใบ ให้ห่างจากอุปกรณ์อื่นๆ หรือ
  • อาจใช้หลังมือผลักเลื่อนถาดชุดสวนปัสสาวะให้ห่างออกไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเลื่อนชามกลมให้ห่างจากตัวผู้ป่วย
ผู้ลิขิต
อาจารย์วิภาวี หม้ายพิมาย และรศ.พัสมณฑ์คุ้มทวีพร

ผู้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

1. รศ.จันทนา               รณฤทธิวิชัย
2. ผศ.ณัฐสุรางค์           บุญจันทร์
3. รศ.ปรางค์ทิพย์          อุจะรัตน
4. รศ.พัสมณฑ์              คุ้มทวีพร
5. รศ.ลิวรรณ                 อุนนาภิรักษ์
6. รศ.ดร.วีนัส                ลีฬหกุล
7. รศ.สมจินต์                เพชรพันธุ์ศรี         
8. ผศ.ดร.วิราพรรณ        วิโรจน์รัตน์
9. ผศ.ดร.เสาวลักษณ์       จิรธรรมคุณ
10. อาจารย์อรุณรัตน์          คันธา
11. อาจารย์วิภาวี               หม้ายพิมาย
12. อาจารย์เสาวลักษณ์      สุขพัฒนศรีกุล

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

การนำองค์ความรู้ไปใช้

         ในการสอนเรื่องการสวนปัสสาวะ (Catheterization)” ในภาคการศึกษาปลาย  ปีการศึกษา 2556 ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 - 28 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ห้องบรรยาย และห้องสาธิตทางการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาเขตศาลายา) อาจารย์ผู้สอบทุกท่านได้นำองค์ความรู้จากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล ในหัวข้อ “การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นครั้งคราว (Intermittent catheterization)” ไปใช้ ผลคือ การสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมีความสอดคล้องกัน มีการเน้นประเด็นต่างๆ ได้แก่

1. ความสำคัญ/ ความจำเป็นที่ต้องรู้เรื่องการสวนปัสสาวะ เนื่องจากมีอุบัติการณ์สูงขึ้นในผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาลโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ
2. เน้นวิธีการสวนปัสสาวะที่ปลอดเชื้อเนื่องจากการสวนปัสสาวะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบขับถ่ายปัสสาวะในผู้ป่วย

ผู้ติดตามผลการนำองค์ความรู้ไปใช้
รศ.พัสมณฑ์        คุ้มทวีพร

 

ผู้นำองค์ความรู้ไปใช้

1. ผศ.ณัฐสุรางค์           บุญจันทร์
2. รศ.วัฒนา                พันธุ์ศักดิ์
3. รศ.ปรางค์ทิพย์         อุจะรัตน
4. รศ.พัสมณฑ์             คุ้มทวีพร
5. รศ.ลิวรรณ              อุนนาภิรักษ์
6. รศ.ดร.วีนัส              ลีฬหกุล
7. รศ.สมจินต์              เพชรพันธุ์ศรี
8. ผศ.ดร.เสาวลักษณ์   จิรธรรมคุณ
9. อาจารย์ทีปภา           แจ่มกระจ่าง
10. อาจารย์ธัญยรัชต์     องค์มีเกียรติ
11. อาจารย์อรุณรัตน์     คันธา
12. อาจารย์จิรวรรณ      มาลา
13. อาจารย์วิภาวี         หม้ายพิมาย
14. อาจารย์เสาวลักษณ์   สุขพัฒนศรีกุล

 

 

 
หน้าหลัก