คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
  การวิจัย

เกร็ดความรู้ (ใหญ่ๆ) จากการใช้ยา
กลุ่ม KM การจัดการปัญหาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2553 เวลา 10.30-12.00 น.
โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
         

          วันนี้เป็นการพบกันของกลุ่มการจัดการปัญหาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ครั้งที่ 3 เหมือนเช่นเคย สมาชิกทุกคนเข้าร่วมประชุมอย่างตั้งใจ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มีพลังกายพลังใจที่ยิ่งใหญ่เพื่อควบคุมความดันโลหิตสูงให้อยู่ในมือ และได้นำยาที่ใช้ในการควบคุมความดันโลหิตของตนเองมาด้วยตามที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่เริ่มเข้ากลุ่มในวันแรก เพราะวันนี้พวกเราจะพูดกันด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ยาลดความดันโลหิตสูง โดยมีรองศาสตราจารย์สมจินต์ เพชรพันธุ์ศรี รับหน้าที่เป็นคุณอำนวยของกลุ่ม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์ ทำหน้าที่เป็นคุณลิขิต

          ความรู้สึกดีดี เริ่มจากการที่สมาชิกของกลุ่มได้เล่าความรู้สึกที่ดี ในการนำความรู้ซึ่งได้จากการทำกลุ่มไปปฏิบัต ิทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย บางท่านเริ่มเห็นผลลัพธ์ มีค่าความดันโลหิตลดลง น้อยกว่า 130/80 มม.ปรอท  แต่หลายคนก็ยังควบคุมไม่ได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างขัดขวาง แต่มีความพยายามที่จะทำต่อไป เพื่อไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ สำหรับการออกกำลังกาย ทุกคนบอกไม่ยากที่จะปฏิบัติ มีปัญหาน้อยมาก เพราะหลายคนทำทุกวันและทำได้ 100% เต็ม โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 30 – 100%           

          เมื่อเริ่มพูดคุยเรื่องการใช้ยาลดความดันโลหิตสูง เป็นธรรมดาที่สมาชิกจะมีปัญหามากมาย อาทิ  การรับประทานยาหลายชนิดต่อเนื่องติดต่อกันจะมีผลกับกระเพาะอาหารหรือไม่ ลดหรือหยุดยาได้ไหม ลืมรับประทานยาจะทำอย่างไร มีผลอย่างไรต่อร่างกาย รับประทานยาแล้วมีอาการเท้าบวมจะทำอย่างไร รับประทานยาลดความดันควบคู่กับยาประเภทอื่นจะมีผลอย่างไร ยาหลังอาหาร/ยาก่อนอาหารควรรับประทานอย่างไร ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงเป็นโรคเดียวกันทำไมรับประทานยาไม่เหมือนกัน ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกกลุ่มที่จะต้องช่วยกันเสนอความคิดเห็น พร้อมทั้งช่วยกันสรุปประเด็นสำคัญเป็นคำตอบที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายๆ

   
ยา

ทำให้เกิด เกร็ดความรู้ (ใหญ่ๆ) จากการใช้ยา ที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
  • รับประทานยาตรงตามเวลา เพื่อให้ยาออกฤทธิ์สม่ำเสมอ
  • อ่านฉลากก่อนหยิบยา หรือทำความเข้าใจกับเภสัชกรทุกครั้งที่รับยามา ยาบางตัวบอกว่าต้องกินห่างจากยาอื่นๆ เช่น  ยาลดไขมันในเลือดห้ามรับประทานพร้อมกับยาอิริโธมัยซิน ดังนั้นต้องระวังเป็นพิเศษในการรับประทาน
  • หลักสำคัญในการรับประทานยาลดความดันโลหิตสูง คือ ยาลดความดันที่แพทย์สั่งให้ทานก่อนอาหารครึ่งเม็ด  ตื่นนอนมาทานเลย ให้ดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อไม่ให้เกิดการตกตะกอน
  • สำหรับผู้ที่รับประทานยาขับปัสสาวะ  จะมีการสูญเสียเกลือแร่ไปกับปัสสาวะ คือ โปแตสเซียม ต้องรับประทานผักผลไม้เสริม เช่น กล้วย ส้ม แตงโม แคนตาลูป แอปเปิ้ล  องุ่น มะเขือเทศ ผักพวกกะหล่ำปลี ถั่ว ฯลฯ ทุกวัน
  • วิธีเตือนไม่ให้ลืมกินยา มีวิธีแก้ไขที่น่าสนใจ และปฏิบัติง่ายๆ ดังนี้ คือ
    • ก่อนทานข้าวเตรียมยามาตั้งไว้เลย จะตั้งน้ำไว้แก้วหนึ่ง ถ้าน้ำไม่ยุบแสดงว่าเรายังไม่ได้ทานยา
    • จัดยาใส่กล่องไว้ทานตามเวลา ถ้ามาเปิดดูยายังอยู่แสดงว่ายังไม่ได้ทาน
    •  เขียนเตือนในตำแหน่งที่เห็นง่าย
    •  ตั้งนาฬิกาปลุกเตือน
  • ถ้าลืมรับประทาน ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้  และไม่ซ้ำกับมื้อต่อไป  ถ้าเวลาใกล้มื้อต่อไปก็ต้องงดมื้อที่ลืมไปเลย
  • หยุดยาหรือลดยาเองไม่ได้ เพราะมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ เพื่อนสมาชิกที่เคยลืมกินยา วัดความดันขึ้นสูงเลย อันตรายมาก  มีโอกาสเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหัวใจโต
  • การแก้ไขเมื่อเกิดผลข้างเคียง บางคนรับประทานแล้วเกิดผลข้างเคียง  เช่น เท้าบวม เวียนศีรษะ มึนงง ไอ ขับเสมหะไม่ออก ควรให้ไปปรึกษาแพทย์ เพราะแพทย์อาจปรับเปลี่ยนยา
  • ส่วนการได้ยาลดความดันไม่เหมือนกัน สมาชิกกลุ่มสรุปว่า แต่ละคนมีโรคไม่เหมือนกัน  สาเหตุของโรคก็ไม่เหมือนกัน

          อย่างไรก็ตาม ก่อนเสร็จสิ้นการประชุมกลุ่ม สมาชิกได้สรุปความรู้ที่น่าสนใจและลืมไม่ได้สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง คือ การรับประทานยาต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีผู้ป่วยน้อยรายที่สามารถหยุดรับประทานยาได้ แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง  ดังนั้น สมาชิกกลุ่มทุกคนต้องไม่เบื่อการรับประทานยา ทำให้การรับประทานยาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ง่าย  โดยให้นึกเสมอว่า การกินยา ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน ไม่ให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหัวใจโต โรคไต  เป็นต้น หากต้องการหยุดรับประทานยา เราต้องปรับพฤติกรรมการกิน พฤติกรรมการออกกำลังกายให้ถูกต้องก่อน ขณะนี้เราทำได้แล้วหรือยัง..........ถ้าตอบว่ายัง ต้องรับประทานยาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ร่วมกับการปฏิบัติตัวดังกล่าวข้างต้นด้วย      


 

 
หน้าหลัก