คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
  การวิจัย

ใส่ใจ...การสังเกตอาการผิดปกติ
-------------------------------------------------------------------------------
กลุ่ม KM การจัดการปัญหาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ
วันศุกร์ที่ 20  สิงหาคม 2553 เวลา 10.30-12.00 น.
โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

         การเข้ากลุ่มการจัดการปัญหาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุวันนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้วนะ วันเวลาผ่านไปรวดเร็วจริงๆ อย่างไม่น่าเชื่อ  สำหรับหัวข้อการประชุมในวันนี้ คือ การสังเกตอาการผิดปกติในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ซึ่งสมาชิกทุกคนอยากรู้ว่าอาการผิดปกติมีอะไรบ้าง จะต้องสังเกตอย่างไร และเมื่อพบอาการเหล่านี้แล้วควรทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด

         การเข้ากลุ่มครั้งนี้ รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย และรองศาสตราจารย์จันทนา รณฤทธิวิชัยทำหน้าที่เป็นคุณลิขิต  เราเริ่มต้นการพูดคุย โดยให้สมาชิกได้มีโอกาสทบทวนเรื่องต่างๆที่ได้เคยพูดคุยผ่านมาตั้งแต่ครั้งที่ 1-3 และนำไปปฏิบัติแล้ว คือ เรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา ซึ่งสมาชิกได้สรุปเคล็ด (ไม่) ลับในการปฏิบัติ ดังนี้ รับประทานอาหารไม่เค็ม ไม่หวาน ไม่มัน ออกกำลังกายโดยเริ่มจากการยกขาบนที่นอนตั้งแต่ตื่นนอน แกว่งแขนไม่ต่ำกว่า 200 ครั้ง และออกกำลังกายตามความเหมาะสมในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 30 นาที ไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ รับประทานยาลดความดันโลหิตตรงเวลาเป็นประจำ ห้ามหยุดยาเอง และหลังรับประทานยา ต้องเปลี่ยนท่าทางช้าๆ เพราะความดันโลหิตจะลดลง นอกจากนั้น ยาลดความดันบางตัวจะเป็นยาขับปัสสาวะ จึงต้องสังเกตปริมาณปัสสาวะ ดื่มน้ำมากๆ รับประทานผักและผลไม้ เพื่อเสริมธาตุโปตัสเซียม ซึ่งมีมากในกล้วย ส้ม ฝรั่ง ฯลฯ ถ้ามีอะไรผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์  สิ่งที่น่าชื่นใจและเป็นเครื่องยืนยันว่า กลุ่มของเราประสบความสำเร็จมากในการควบคุมระดับความดันโลหิต คือ สมาชิก เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีความดันโลหิตอยู่ในเป้าหมายที่กลุ่มกำหนด ไม่เกิน 130 / 80 มิลลิเมตรปรอท แสดงว่าทุกคนมีความตั้งใจ ต้องชื่นชมว่าพวกเราเก่งจริงๆ

   

        สำหรับประเด็นการสนทนากลุ่มเรื่องการสังเกตอาการผิดปกติในวันนี้ พวกเราทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้รู้ถึงความผิดปกติล่วงหน้า ไม่ทำให้โรคเป็นมากกว่าเดิม อาการที่ต้องสังเกต ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดท้ายทอย อาการหน้ามืด วิงเวียนผิดปกติ หัวหมุน มึนงง เดินโคลงเคลง นอนไม่หลับ ตาลาย ตามัว อ่อนแรง หลงลืม ฯลฯ ซึ่งต้องรีบไปพบแพทย์ และควรปฏิบัติตนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ดังนี้

         อาการปวดศีรษะ ปวดท้ายทอย มักเกิดจากความดันโลหิตสูงขึ้น หากมีอาการควรปฏิบัติตน โดยการหยุดพักจากกิจกรรมต่างๆ ถ้ามีเครื่องวัดความดันโลหิตที่บ้าน ให้วัดว่าความดันโลหิตสูงหรือไม่ เพื่อจะได้ระวังตัว แล้วรีบไปพบแพทย์ อาการปวดท้ายทอยอาจไม่ได้เกิดจากสาเหตุของความดันโลหิตสูงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือข้อต่อที่คอก็ได้ ดังนั้น การวัดความดันโลหิต จะช่วยแยกได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ หากพักแล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

         อาการหน้ามืด หัวหมุน ซึ่งเกิดจากการก้มหรือหมุนศีรษะเร็วๆ ต้องระวังการหกล้ม โดยการค่อยๆ เปลี่ยนท่าทาง เพราะเวลาก้มหรือหมุนศีรษะ ทำให้การไหลเวียนเลือดที่ศีรษะน้อยลง ยิ่งทำให้มีโอกาสหน้ามืดมากขึ้น ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการก้มศีรษะ หากต้องการก้มศีรษะเก็บของ ต้องใช้วิธีย่อตัวลง การนวดบริเวณศีรษะและคอ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และต้องทำโดยผู้ที่มีความชำนาญเพราะหากทำไม่ถูกต้อง อาจทำให้หลอดเลือดแตกได้

         อาการหนังตาบวมตึง  เป็นอาการแสดงว่าอาจมีการเพิ่มของน้ำในร่างกายมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการกินเกลือมากกว่าปกติ ควรทบทวนดูว่าได้กินเกลือมากขึ้นหรือไม่อย่างไร หากพบว่ากินเกลือมาก ให้กินเค็มลดลง ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับเกลือออกไปกับปัสสาวะ แต่ถ้าไตไม่ดีหรือเป็นโรคหัวใจ ต้องระวังเรื่องการดื่มน้ำ  เพราะการดื่มน้ำมาก จะยิ่งทำให้บวมมากขึ้น เกิดภาวะไตวายและหัวใจทำงานล้มเหลวได้

         อาการปัสสาวะบ่อย อาจเป็นอาการผิดปกติหรือไม่ผิดปกติก็ได้ เพราะถ้ากินยาขับปัสสาวะ อาการปัสสาวะบ่อยถือว่าปกติ แต่ถ้าเราไม่ได้กินยาและไม่ได้ดื่มน้ำมาก อาการปัสสาวะบ่อยถือว่าเป็นอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

         อาการเดินตัวลอย ตัวเบา หาว นึกไม่ออก พูดไม่ออก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ แขนขาอ่อนแรง การทรงตัวไม่ดี ตามัว อาเจียน อาจเป็นอาการผิดปกติจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอหรือสมองขาดเลือดชั่วคราว เนื่องจากมีการอุดตันของหลอดเลือด หรือมีการแตกของหลอดเลือด ทำให้การรับรู้ในสมองลดลง ต้องรีบไปพบแพทย์รักษา เพราะถ้ารักษาเร็ว สามารถหายเป็นปกติได้

         สรุปว่า ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงต้องสนใจสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ถ้ามีอาการผิดปกติ ได้แก่ ปวดศีรษะ แขนขาไม่มีแรง/อ่อนแรง เดินเซ อาเจียน ท้องเสีย เจ็บหัวใจ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจไม่ได้ ตาบวม นึกอะไรไม่ออก เดินเซ หัวหมุน ฯลฯ ควรรีบไปพบแพทย์ “ใส่ใจ...การสังเกตอาการผิดปกติ พบเร็ว รักษาเร็ว หายเร็ว”

         ก่อนจบการประชุมกลุ่ม รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ ได้ทบทวนหัวข้อในการประชุมครั้งต่อไป คือ การดูแลด้านจิตใจ โดยมี รองศาสตราจารย์สมจินต์ เพชรพันธุ์ศรี จะมาทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย และเสนอให้มีการเลือกประธานกลุ่ม รวมทั้งมีการตั้งชื่อกลุ่ม เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงานของกลุ่ม และฝากให้กลุ่มมีการพูดคุยกัน เพื่อวางแผนการดำเนินงานในโอกาสต่อไป

 

 

 
หน้าหลัก