ห้องประวัติการพยาบาลไทย

ห้องประวัติการพยาบาลไทย

นิทรรศการที่บอกเล่าพัฒนาการของวิชาชีพการพยาบาลในประเทศ เริ่มตั้งแต่สมัยที่การพยาบาลเป็นการดูแลกันของคนในครอบครัว จนมีวิทยาการทางการแพทย์และพยาบาลจากตะวันตกเข้ามา กอปรกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลถาวรขึ้นในประเทศ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์แห่งแรกจึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นวิชาชีพการพยาบาลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นวิชาชีพทางด้านสุขภาพที่มีความสำคัญและจำเป็นที่สุดวิชาชีพหนึ่งในสังคมปัจจุบัน

โซนที่ ๑ ก่อเกิดวิชาชีพการพยาบาล - ผดุงครรภ์ในประเทศไทย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โรงศิริราชพยาบาล” ใน พ.ศ.๒๔๓๑ เป็นจุดเปลี่ยนที่ก่อให้เกิดกระแสความต้องการพยาบาลวิชาชีพ เนื่องจากในระยะแรกเริ่มนั้นมีเพียง “คนพยาบาล” ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์ แต่ก็ยังขาดความรู้ความสามารถเพราะยังไม่ได้รับการศึกษาโดยตรง

โซนที่ ๒ ศรีพัชรินทรามหากรุณาธิคุณ

เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชทานก่อตั้ง “โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้” ขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์แห่งแรกในประเทศไทย (ปัจจุบันคือ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) จากนั้นใน พ.ศ. ๒๔๕๗ โรงเรียนพยาบาลแห่งที่สองได้เกิดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ตั้ง “โรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาด” (ปัจจุบัน คือ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย) เพื่อผลิตพยาบาลมาทำการพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การเปลี่ยนผ่านครั้งที่ ๑

ชัยนาทนเรนทรกรณียกิจ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาวิชาการพยาบาลผดุงครรภ์ ตลอดจนทรงส่งเสริมข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ให้เข้าเรียนวิชาการพยาบาลผดุงครรภ์ และพระองค์ทรงชักชวนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้ทรงสนับสนุนและช่วยเหลือกิจการด้านการแพทย์และพยาบาลของไทย

ทรงสืบสานพระราชปณิธาน

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงสืบสานพระราชปณิธานในพระมารดาทั้งสองพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ด้วยโปรดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองให้เรียนรู้หนทางประกอบอาชีพ

โซนที่ ๓ เปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาการศึกษาพยาบาล คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงเจรจาความร่วมมือให้มูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์เข้ามาช่วยปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนของโรงเรียนพยาบาลและการผดุงครรภ์ให้มีมาตรฐานในระดับสากล ทรงวางรากฐานการพยาบาลไทยโดยส่งพยาบาลไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศด้วยทุนส่วนพระองค์และทุนของมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ ทรงสละพระราชทรัพย์ซื้อที่ดินโรงเรียนกุลสตรีวังหลังและพระราชทานให้คณะแพทยศาสตร์เพื่อสร้างโรงเรียนและหอพักพยาบาล

การเปลี่ยนผ่านครั้งที่ ๒

ศิริราชในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ พยาบาลไทยต้องปรับเปลี่ยนใช้อุปกรณ์อื่นทดแทนเวชภัณฑ์ตามสภาวการณ์ ประกอบกับโรงพยาบาลศิริราชถูกระเบิดทำลายและเพลิงไหม้หลายตึก มีผู้ป่วยซึ่งได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก พยาบาลต้องทำงานหนักด้วยจิตใจเข้มแข็งเสียสละในภาวะที่มีอันตรายตลอดช่วงสงคราม

โซน ๔ การขยายตัวของวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ประเทศเริ่มกลับคืนสู่ภาวะปกติ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสร้างโรงพยาบาลจังหวัดทุกจังหวัด เกิดการขยายตัวของวิทยาลัยพยาบาล และการเติบโตของวิชาชีพการพยาบาลในหลายๆ ด้าน เช่น เกิด พ.ร.บ. วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ฉบับแรก มีการขยายตัวของสถาบันการศึกษาพยาบาล มีการพัฒนาด้านการศึกษาพยาบาล ด้านการวิจัยทางการพยาบาล และด้านบริการพยาบาล

โซน ๕ เกียรติยศภาคภูมิในวิชาชีพการพยาบาล

ตลอด ๑๒๐ ปีที่ผ่านมาวิชาชีพการพยาบาลได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมวงศ์อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ก่อเกิดความภาคภูมิใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลทุกคน

เกียรติยศสูงสุดของวิชาชีพการพยาบาลไทย คือ การจัดตั้ง “รางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” เพื่อมอบให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์จากทั่วโลก ที่ทำคุณประโยชน์ในการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติ

ความภาคภูมิใจสูงสุดและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของชาวคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเงินจำนวนกว่า ๖๐๐ ล้านบาทในการก่อสร้างอาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา