Scan เพื่อเข้าระบบลงทะเบียน
ประชุมวิชาการ online

Scan เพื่อเข้าร่วม Line กลุ่มศูนย์บริการวิชาการ เพื่อติดตามข่าวสารการประชุม/อบรม
 
 
 

การประชุมวิชาการเรื่อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่: รากฐานของชีวิต

วันที่: 19-20 กรกฎาคม 2561
สถานที่: ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

หลักการและเหตุผล

          ประชากรที่มีคุณภาพมีพื้นฐานมาจาก การเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กตั้งแต่แรกเกิด มีผู้กล่าวว่าการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย (แรกเกิด – 5 ปี) เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนามนุษย์ เนื่องจากช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่มีพัฒนาการด้านสมองและการเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด หากเด็กปฐมวัยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย จะมีทักษะทางกายภาพ สติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์สูง นำไปสู่โอกาสในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นและเป็นแรงงานคุณภาพในอนาค รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดทำนโยบาย  และยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิด และการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการ  ส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย พร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปอย่างมั่นคง

          ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการที่เด็กจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีได้นั้นขึ้นกับการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ การให้อาหารที่เหมาะสมตั้งแต่แรกเกิดจะเป็นพื้นฐานให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่ดี มีสติปัญญาที่เหมาะสม การให้นมแม่แก่ทารกตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะน้ำนมแม่เป็นแหล่งอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก มีสารอาหารครบถ้วนและมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถหาได้ในอาหารทดแทนชนิดอื่นๆ (Ballard & Morrow, 2013) การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดอัตราตายและอัตราเจ็บป่วยในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสาเหตุของโรคติดเชื้อ ตลอดจนช่วยส่งเสริมพัฒนาการในเด็ก (Chiu et al., 2011; Victora et al., 2015)  และส่งเสริมความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูก ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม (Kramer & Kakuma, 2012; U.S. Department of Health and Human Services, 2011) องค์การอนามัยโลกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนลูกมีอายุอย่างน้อย 2 ปี (WHO, 2013) อย่างไรก็ตามจากการสำรวจสถานการณ์เด็กในประเทศไทย (The Thailand Multiple Indicator Cluster Survey) ล่าสุดในปี 2558-2559 พบว่ามีมารดาไทยเพียงร้อยละ 23.1 ที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวแก่ลูกที่มีอายุอยู่ในช่วง 0-5 เดือนได้ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2559) ทั้งนี้เป็นจำนวนที่ห่างไกลจากเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกได้ตั้งไว้ที่ร้อยละ 50 (UNICEF, 2014) อยู่มาก

          คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสุขภาพเด็กปฐมวัย เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงมีนโยบายในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมสนับสนุน และคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง  โดยภารกิจหนึ่งของศูนย์ฯ คือการให้บริการวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ทันสมัยแก่อาจารย์ พยาบาลวิชาชีพ และผู้สนใจ  ในการนี้จึงกำหนดจัดการประชุมวิชาการเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่...รากฐานสำคัญของชีวิตขึ้น เพื่อให้พยาบาลและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการส่งเสริมให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานที่สุด และปกป้อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากภัยคุกคามของการโฆษณานมผง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มารดาไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร   โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน

* หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องฯ(CNEU) 10.5 หน่วยคะแนน

วัตถุประสงค

  1. เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุนและปกป้อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของพยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข ให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
  2. สร้างเครือข่ายทางวิชาการและ การดำเนินงานด้านการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างผู้เข้ารับการอบรม
  3. เพื่อร่วมกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกประจำปี พ.ศ. 2561
  4. เผยแพร่ชื่อเสียงของคณะพยาบาลศาสตร์แก่บุคคลภายนอก 

 

 

 
 

Copyright © 2022  Faculty of Nursing, Mahidol University All rights reserved. 
Webmaster: 
nswww@mahidol.ac.th

 

login