คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
  การวิจัย

ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 1/2554
เรื่องความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล

         ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล ในหัวข้อ “การฉีดยา ครั้งที่ 1” เมื่อวันที่ 14  มิถุนายน  2554 เวลา 12.00-13.30 น. ห้อง 901 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีรองศาสตราจารย์ฉวีวรรณ โพธิ์ศรี เป็นผู้นำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาจากภาควิชาต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการฉีดยา

ประเด็นที่ 1. การใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดผิวหนัง

         รองศาสตราจารย์ปราณี  ทู้ไพเราะ ได้เปิดประเด็นในเรื่อง การใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดผิวหนังอย่างไรก่อนที่จะฉีดยา”  อาจารย์เล่าว่าได้มีโอกาสดูแลนักศึกษาจากสวีเดนที่มาฝึกที่หอผู้ป่วย พบว่านักศึกษาสวีเดนใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดจากบนลงล่างครั้งเดียว   รองศาสตราจารย์ปรางค์ทิพย์ อุจะรัตน ได้แสดงความคิดเห็นต่อเนื่องว่าการใช้เช็ดสำลีชุบแอลกอฮอล์มี 2 แบบ คือ การเช็ดวนจากด้านในออกด้านนอก โดยไม่จำเป็นต้องกลับสำลีเช็ดอีกรอบ หรืออีกวิธีหนึ่งคือเช็ดจากบนลงล่างตรงตำแหน่งที่จะฉีดยา  อาจารย์ธัญยรัชต์  องค์มีเกียรติ เล่าว่าได้มีโอกาสไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น พยาบาลที่ญี่ปุ่นฉีดซองใส่สำลีชุบแอลกอฮอล์แผ่นสำเร็จรูป  แล้วเช็ดครั้งเดียวโดยเช็ดจากบนลงล่าง แต่เนื่องจากบ้านเราใช้ลำสีก้อนกลมๆ ซึ่งถ้าเช็ดจากบนลงล่างเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่สะอาดพอ เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจารย์ ดร. สุพินดา  เรืองหิรัฐเฐียร เล่าว่าตามศูนย์สุขภาพชุมชนก็ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์แผ่นสำเร็จรูป แล้วก็เช็ดครั้งเดียวเช่นกัน  

   

         รองศาสตราจารย์ลิวรรณ  อุนนาภิรักษ์ เล่าว่า ได้สอนนักศึกษาบนหอผู้ป่วยให้เตรียมสำลีชุบแอลกอฮอล์ 2 ก้อน ใส่ถ้วยหรือ tray ฉีดยา หรือใส่ในถุงพลาสติกของสำลี จะไม่กำสำลีไว้ในมือ การที่เตรียมสำลีไป 2 ก้อน เนื่องจากผิวหนังผู้ป่วยบางคนไม่ค่อยสะอาด ต้องเช็ดซ้ำ การเช็ดไม่มีการกลับสำลี รองศาสตราจารย์กนกพร หมู่พยัคฆ์ เล่าว่าว่านักศึกษาที่ออกชุมชน เช็ดจากบนลงล่างไม่ซ้ำไปมา เช็ดตรงกลางและเช็ดข้างๆทั้ง 2 ข้าง เช็ดสำลีไม่วน ซึ่งคิดว่าก็ไม่ได้ผิดหลักการใดๆ

         รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ  ทองเจริญ ได้เปิดประเด็นว่า “ถ้าที่ไม่มีแอลกอฮอล์จะทำอย่างไรโดยเฉพาะการฉีดอินสุลินที่บ้าน และเล่าว่ามีงานวิจัยสนับสนุนในกรณีที่ฉุกเฉินและเร่งด่วนจำเป็น เมื่อไม่มีแอลกอฮอล์จริงๆสามารถใช้น้ำต้มสุก ได้  ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรจะทำวิจัยต่อไป และอีกประเด็นที่เป็นปัญหาของนักศึกษาในการเช็ดสำลีชุบแอลกอฮอล์ คือ “นักศึกษามักจะไม่ทราบว่าต้องรอให้แอลกอฮอล์แห้งก่อนค่อยฉีดยาโดยไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์อีกทั้งพยาบาลมักจะชอบใช้มือพัดโบกเพื่อให้แอลกอฮอล์แห้ง ซึ่งไม่ถูกต้อง ดังนั้นในการเช็ดควรใช้สำลีที่หมาด ไม่ชุ่มเกินไป เพราะจะทำให้แห้งช้า  โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์ กล่าวว่าแอลกอฮอล์จะทำปฏิกิริยากับผิวหนังภายใน 1 นาทีแล้วจะแห้ง ซึ่งนั่นคือแอลกอฮอล์สามารถระงับเชื้อได้  แต่การโบกพัดจะยิ่งทำให้เชื้อโรค ฝุ่นละอองบริเวณนั้นกระจาย และไม่ควรเป่า เพราะการเป่าจะยิ่งเกิดเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น

         อาจารย์ธัญยรัชต์  องค์มีเกียรติ เปิดประเด็นว่า “จะเทแอลกอฮอล์ลงบนสำลีอย่างไร ไม่ให้ชุ่มเกินไป” ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชได้ใส่สำลีไว้ในซอง ไม่ได้ใช้forceps หยิบสำลีจากกระปุกแล้วมาจุ่มแอลกอฮอล์ที่อยู่ในขวดแล้ว  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์เล่าว่ากรณีที่ใช้forceps หยิบสำลี ควรจุ่มสำลีลงในแอลกอฮอล์เพียงครึ่งก้อนเพื่อไม่ให้ชุ่มเกินไป  รองศาสตราจารย์ฉวีวรรณ โพธิ์ศรี เล่าว่า เทแอลกอฮอล์ลงบนสำลีที่อยู่ในซอง 2 ก้อน เหลือสำลีแห้งไว้ 1 ก้อน อาจารย์ธัญยรัชต์  องค์มีเกียรติ เสนอว่าไม่ควรเทแอลกอฮอล์ลงบนสำลีที่อยู่ด้านกระดาษ เพราะหมึกจะซึมที่สำลี และควรแบ่งสำลีแห้งก่อนเทแอลกอฮอล์ รองศาสตราจารย์พัสมณฑ์ คุ้มทวีพรและรองศาสตราจารย์สิริรัตน์ ฉัตรชัยสุชา เล่าว่าหอผู้ป่วยที่พานักศึกษาขึ้นฝึกนั้นจะเข็นรถฉีดยาไปที่เตียงผู้ป่วยและเตรียมยาที่เตียงผู้ป่วย หรือ เตรียมยาใส่ใน tray ฉีดยา          ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิตยา  สินสุกใส บอกว่าการฉีดยานั้นแต่ละคนมีเทคนิคที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามต้องยึดหลักการ อย่า Contaminant และการให้นักศึกษาเตรียมยาต่อหน้าผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกไม่ไว้วางใจ ไม่อยากให้นักศึกษาฉีด ดังนั้นจึงแก้ไขโดยการเตรียมยาที่เคาเตอร์พยาบาลก่อนไปฉีดผู้ป่วย     อาจารย์ ดร. สุพินดา เรืองหิรัฐเฐียร เปิดประเด็นเรื่องการใช้สำลีแบบประหยัด ซึ่งรองศาสตราจารย์ปราณี  ทู้ไพเราะ เล่าว่าพยาบาลที่อยู่ประจำโรงเรียนจะใช้ไม้พันสำลีชุบแอลกอฮอล์ ซึ่งจะลดราคาลงมาก  แต่เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงการติดเชื้อพบว่ามีการติดเชื้อที่สูงมากกว่า ค่าใช้จ่ายจึงสูงตามไปด้วย ดังนั้นควรคำนึงถึงหลักการติดเชื้อมากกว่า

         รองศาสตราจารย์ฉวีวรรณ โพธิ์ศรี ได้สรุปวิธีการใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดผิวหนัง
ถ้าเป็นสำลีก้อน จะให้เช็ดตรงบริเวณที่เราจะฉีดยาโดยเช็ดกว้างออกมา  2- 3 นิ้ว เช็ดเป็นวงกลม ไม่ซ้ำไปมา หรือ เช็ดจากบนลงล่างกว้าง 2 – 3 นิ้วไม่ซ้ำที่เดิมเช่นกัน          ถ้าเป็นสำลีแผ่น ให้เช็ดครั้งเดียวจากบนลงล่าง เมื่อเช็ดเสร็จแล้วต้องรอให้แอลกอฮอล์ให้แห้ง ไม่ใช้มือพัดโบก หรือเป่า เพราะจะยิ่งทำให้เกิดเชื้อโรคมากขึ้น

ประเด็นที่ 2. เทคนิคการฉีดยา

         รองศาสตราจารย์สิริรัตน์ ฉัตรชัยสุชา เล่าถึง “เทคนิคการฉีดยา” ขึ้นกับว่าฉีดเข้าอะไร ต้องคำนึงถึงขนาดของเข็ม และผู้ป่วย ถ้าคนอ้วนองศาของเข็มที่แทงให้ประมาณ 60-90 องศา ถ้าฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ ต้องจับผิวหนังให้ตึง แล้วแทงเข็ม โดยหงายปลายตัดขึ้น แล้วแทงเข้าไป โดยมือหนึ่งจับ Syringeให้แน่น แล้วทดสอบว่าเข็มเข้าไปเส้นเลือดหรือไม่  สำหรับในกรณีถ้าเข็มมีความยาว 1.5 นิ้ว ผู้ป่วยอ้วน ก็สามารถฉีดยาในมุม 60 องศา ส่วนถ้าเข็มมีความยาว 1 นิ้วฉีดยาในมุม 60 องศา ให้แทงเข็มเกือบมิดเข็ม ถ้าฉีดสะโพกให้ตั้งฉากกับผิวหนัง 90 องศา  รองศาสตราจารย์ฉวีวรรณ โพธิ์ศรีบอกว่าถ้าเข็มยาวให้ใช้องศาที่น้อย ส่วนเข็มสั้นองศามาก จากประสบการณ์สอนนักศึกษาพบว่า กรณีแทงเข็มเข้าไปลึก 5/8 ของความยาวเข็ม และทดสอบว่าปลายเข็มไม่ได้อยู่ในหลอดเลือด เวลาดันยาเข็มมักจะเคลื่อนจนมิดเข็ม ซึ่งต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้น

          การฉีดยาในเด็ก รองศาสตราจารย์สิริรัตน์ ฉัตรชัยสุชา เล่าว่าการฉีดวัคซีนในเด็กแรกเกิดถึง 8 เดือน ให้ฉีดที่หน้าขาเท่านั้น โดยใช้เข็มเบอร์ 27 รองศาสตราจารย์ฉวีวรรณ โพธิ์ศรี เล่าว่าวิธีการฉีดยาไม่เจ็บ นอกจากเข็มต้องคมแล้ว ก่อนแทงเข็มควรทำให้กล้ามเนื้อหย่อน แล้วตึงกล้ามเนื้อให้ตึง เช่นการฉีดที่ต้นแขน ให้ท้าวเอวและวางมือในท่าเป็ดจะทำให้กล้ามเนื้อหย่อน ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ถ้าผู้ป่วยผอมควรดึงเนื้อขึ้น  และการแทงเข็มไม่แทงเร็วหรือช้าไป ความกลัวการฉีดยา จะยิ่งทำให้เกร็งและเจ็บ

          สรุปเทคนิคการฉีด  ดึงผิวหนังให้ตึง เข็มคม ดันยาช้าๆ

ประเด็นที่ 3. ผสมยาอย่างไรไม่เกิดฟองมาก

         อาจารย์ ดร. สุพินดา เรืองหิรัฐเฐียร เล่าว่าเวลาที่ฉีดยา Hemax จะมีฟองมาก ดูดแล้วยาไม่ออกมีแต่ฟอง อาจารย์อรุณรัตน์ คันธา เล่าถึงเทคนิกการทำให้ไม่เกิดฟองว่า ควรใส่ตัวทำละลายช้าๆ และเขย่าขวดยาเบาๆจะช่วยได้  อาจารย์ธัญยรัชต์  องค์มีเกียรติเล่าว่าการผสมยา Cefobic ห้ามใส่อากาศเข้าไปในขวด ก่อนดูดยา เพราะเมื่อผสมยาแล้วจะเกิดอากาศในขวด หากใส่อากาศเข้าไปอีกจะมีแรงดันมาก ยาจะกระเด็นพุ่งออก ฉะนั้นต้องระวังการผสมยาตัวนี้

ประเด็นที่ 4. การฉีดยาทาง IV

         สำหรับการฉีดยาทาง IV ตามหลักการต้อง Close System  แต่ในทางปฏิบัติในบางหอผู้ป่วยที่มีการฉีดยาทาง IVหลาย dose ทางจุกเหลืองของสายIV ทำให้เกิดการรั่วซึม จึงมีการปลดรอยต่อ แล้วฉีดยาเข้าIV ซึ่งไม่เป็น close system ต้องระวัง Contaminate  อย่างไรก็ตาม การฉีดที่จุกเหลืองควรเปลี่ยนเป็นเข็มเล็กเช่นเบอร์24 25 เพื่อป้องกันการรั่วซึม

รองศาสตราจารย์ฉวีวรรณ โพธิ์ศรี ได้สรุปประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการฉีดยาในวันนี้ มี 4 ประเด็น ดังนี้

  1. วีธีการใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดผิวหนัง
  2. เทคนิคการฉีดยา
  3. การผสมยา
  4. การฉีดยาทาง IV
          สำหรับการเสวนาในวันนี้ ทางคณะกรรมการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมเสวนาคงได้ฟังประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่อง “การฉีดยา”ถ้ามีสิ่งใดที่อยากจะแลกเปลี่ยนก็สามารถเล่าสู่กันฟังได้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งต่อไป

 

อาจารย์ อรุณรัตน์ คันธา
ผู้จดบันทึก

รายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม

  1. รศ.ฉวีวรรณ               โพธิ์ศรี           ประธาน
  2. รศ.สิริรัตน์                 ฉัตรชัยสุชา
  3. ผศ.ณัฐสุรางค์            บุญจันทร์
  4. รศ.ถนอมขวัญ            ทวีบูรณ์
  5. อ.ธัญยรัชต์               องค์มีเกียรติ 
  6. รศ.ปรางค์ทิพย์           อุจะรัตน 
  7. รศ.ลิวรรณ                อุนนาภิรักษ์ 
  8. รศ.วิไลวรรณ             ทองเจริญ 
  9. ผศ.วิราพรรณ             วิโรจน์รัตน์ 
  10. รศ.วีนัส                    ลีฬหกุล
  11. รศ.สมจินต์                เพชรพันธุ์ศรี 
  12. รศ.กนกพร                หมู่พยัคฆ์
  13. รศ.ปราณี                 ทู้ไพเราะ 
  14. ผศ.นิตยา                 สินสุกใส
  15. อ.สุพินดา                 เรืองจิรัษเฐียร
  16. อ.อรุณรัตน์               คันธา             ผู้บันทึก

 

 
หน้าหลัก