คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
 

การวิจัย

KM ภาควิชาและสำนักงาน
เรื่อง การพัฒนาอาจารย์และการจัดการเรียนการสอน

         ภาควิชาการพยาบาลรากฐานได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง การพัฒนาอาจารย์และการจัดการเรียนการสอน ในหัวข้อ "การดูแลภาวะผิวหนังอักเสบเนื่องจากการควบคุมการขับถ่ายไม่ได้" เมื่อวันพุธที่ 18 มิถุนายน 2557 เวลา 12.00-13.30 น. ณ ห้อง 205 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา โดยได้รับเกียรติจาก คุณพูลสุข ตรีชดารัตน์ จากบริษัท 3 เอ็ม เป็นวิทยากร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ จิรธรรมคุณ เป็นคุณอำนวย และอาจารย์วิภาวี หม้ายพิมาย/รองศาสตราจารย์พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร เป็นคุณลิขิต ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ จุดประสงค์เพื่อให้อาจารย์ทั้งภาควิชาฯ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในบทบาทของพยาบาล ดังนี้ 1) ความหมาย 2) ระดับความรุนแรง 3) ระดับความรุนแรง 4) กระบวนการพยาบาล 5) ผลิตภัณฑ์ที่รับรองประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะภาวะอักเสบของผิวหนัง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ความหมาย

ภาวะผิวหนังอักเสบเนื่องจากการควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ (Incontinence Associated Dermatitis: IAD) คือ ภาวะอักเสบของผิวหนัง เนื่องจากการสัมผัสกับปัสสาวะ อุจจาระ และบางครั้งอาจมีเหงื่ออย่างต่อเนื่อง หรือซ้ำๆ จนทำให้เกิดอาการแดง บริเวณรอยพับผิวหนัง ซึ่งอาจมีหรือไม่มีการกัดกร่อน หรือเปิดออกเป็นแผลของผิวร่วมด้วย ภาวะนี้จะเกิดจากการทำลายของชั้นผิวหนังกำพร้าถึงชั้นหนังแท้เท่านั้น กรณีที่มีการติดเชื้อ Staphylococcus aureus หรือ candida albicansในบริเวณนั้นร่วมด้วย อาจทำให้แผลลึกและรุนแรงมากขึ้นได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำเกิดการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้
• เพศหญิง
• ผู้สูงอายุ
• ผู้เป็นโรคทางระบบประสาท
• เชื้อชาติผิวขาว
• น้ำหนักตัวมาก
• ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า
• มีโรคเบาหวาน
• ผู้ป่วย หรือผู้ที่มีกิจกรรมทางร่างกายลดลง

กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้

• กลุ่มผู้สูงอายุ
• กลุ่มผู้ป่วยใน nursing home
• ผู้ป่วยที่มีอาการและความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
• ปัจจัยทางสูติศาสตร์ เช่น การตัดขยายปากช่องคลอดเพื่อการคลอดบุตร เป็นต้น
• กลุ่มผู้ป่วยข้างต้นที่เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับลำไส้ หรือช่องเชิงกราน

ระดับความรุนแรง

แบ่งระดับความรุนแรงของภาวะผิวหนังอักเสบเนื่องจากการควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ 5 ระดับ ดังนี้

  1. High risk to IAD คือ มีรอยแผลที่เกิดจากภาวะ IAD ซึ่งผิวหนังไม่แดง และไม่อุ่นกว่าบริเวณใกล้เคียง หรือแผลกดทับเดิม มักพบในผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองหรือสื่อสารไม่ได้ร่วมกับมีภาวะถ่ายเหลวอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง
  2. Early IAD คือ ภาวะที่ผิวหนังแห้งปกติ ไม่มีตุ่มพองน้ำ แต่เปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดง ขอบเขตไม่ชัดเจน จากการสัมผัสจะพบว่าผิวอุ่นกว่าบริเวณใกล้เคียง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแสบหรือเจ็บปวดขณะถูกสัมผัส
  3. Moderate IAD คือ ภาวะที่ผิวหนังมีสีแดงสด หรือแดงจัดในคนผิวเข้ม ผิวมักจะเป็นมันเงา ชื้น ร่วมกับมีการซึมหรือจุดเลือดออก มักพบตุ่มพองหรือตุ่มน้ำเล็กๆ อาจมีผิวเปิดออกเป็นบริเวณเล็กๆ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแสบ
  4. Severe IAD คือ ภาวะแผลเปิดระดับตื้นสีแดง มีสิ่งขับหลั่งหรือเลือดซึม และผิวหนังส่วนบนอาจลอกออก เมื่อสิ่งขับหลั่งติดกับผิวสัมผัสอื่นๆ
  5. Fungal-appearing rash คือ ภาวะที่มีผื่นเชื้อรา พบได้ในทุกระดับความรุนแรง มักเกิดรอยผื่นเชื้อรามีสีขาว หรือเหลืองบริเวณขอบของรอยแผล อาจมีลักษะเหมือนเม็ดสิว หรือจุดผื่นแดง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคัน

แนวทางการป้องกัน

แนวทางการป้องกันผิวหนังอักเสบเนื่องจากการควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ได้แก่

  • ทำความสะอาดอย่างเบามือ หลีกเลี่ยงการขัดถู การใช้สบู่ฟอก การใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาด เพื่อป้องกันการเสียดสีต่อผิวหนัง
  • เลือกการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังที่ไม่ระคายเคือง และมีค่า pH ใกล้เคียงกับผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวหนังที่แห้ง ควรดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้น เพื่อคงระดับไขมันในชั้นผิว และการทำหน้าที่ของผิวอย่างปกติ
  • ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ถ่ายบ่อยทำให้ผิวหนังต้องสัมผัสสิ่งขับถ่ายซ้ำๆ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันความชื้น (moisture barrier) เช่น ฟิล์มเหลวเคลือบผิว petrolatum – based, dimethicone- based, zinc oxide-based เพื่อป้องกันผิวหนังอักเสบ

กระบวนการพยาบาล

กระบวนการพยาบาลเพื่อการป้องกันและการรักษาภาวะผิวหนังอักเสบเนื่องจากการควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ คือ ข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล : ผิวหนังเสี่ยงต่อการถูกทำลาย เนื่องจากการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ และ/หรืออุจจาระไม่ได้

เป้าหมาย

ผิวหนังสมบูรณ์ ด้วยการลดการสัมผัสกับสิ่งระคายเคือง (ปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อที่ออกมาก)

ผลลัพธ์

ผิวหนังปกติ ไม่มีภาวะผิวอักเสบแดงที่บริเวณ perineum หรือรอยพับของผิว

การปฏิบัติ

  1. ทำความสะอาด perineum หลังการขับถ่ายทุกครั้งด้วย cleanser ชนิดไม่ต้องล้างออกด้วยน้ำ เหตุผล cleanse มี pH 5.5 ใกล้เคียงกับผิวหนัง
  2. หลีกเลี่ยงการใช้อ่าง (กะละมัง) อาบน้ำในการทำความสะอาด perineum เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค
  3. ไม่ขัดถู ควรใช้ผ้าชุบน้ำแช่บริเวณที่สกปรกไว้ 2-3 นาที แล้วใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนัง แล้วชะล้างสิ่งสกปรกออก ก่อนทาผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวหนัง
  4. ตรวจการสะสมของอุจจาระและปัสสาวะตรงบริเวณรอยพับของผิวอย่างถี่ถ้วน หากพบให้ทำความสะอาดทันที
  5. หลังการทำความสะอาด ควรดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสารให้ความนุ่มและชุ่มชื้น หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของสารให้ความชุ่มชื้นมาก เช่น urea , glycerine, alpha-hydroxy acid, lactic acids เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้จะเพิ่มปริมาณน้ำกับผิวมากเกินไป
  6. ปกป้องผิวจากการสัมผัสปัสสาวะและอุจจาระด้วยผลิตภัณฑ์ที่มี petrolatum, zince oxide, dimethicone หรือใช้ผสมกัน กรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงจากการถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ควรใช้ฟิล์มปกป้องผิวหนัง

ผลิตภัณฑ์ที่รับรองประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะภาวะอักเสบของผิวหนัง

วิทยากรแนะนำเพิ่มเติมว่า บริษัท 3 เอ็ม ขอแนะนำผลิตภัณฑ์ที่รับรองประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะภาวะอักเสบของผิวหนัง เนื่องจากการสัมผัสกับปัสสาวะ/ อุจจาระ 3 ชนิด คือ

1. 3M CavilonTMNo-Rinse Skin Cleanser

คุณสมบัติ

  • Nonionic Surfactant ช่วยสลายคราบสกปรกจากผิวหนัง ลดการขัดถูผิวหนัง
  • อ่อนโยนต่อผิวหนัง ปราศจากการระคายเคือง จึงใช้ได้กับผิวหนังปกติ และผิวหนังที่เกิดการักเสบแล้ว
  • มีค่า pH ที่ใกล้เคียงกับผิวหนัง จึงคงความเป็นกรดอ่อนของผิวหนังได้
  • ใช้งานสะดวก ไม่ต้องล้างน้ำ ลดระยะเวลาในการทำความสะอาด

วิธีใช้

  • ประเมินผิวหนัง
  • ทำความสะอาดผิวหนังภายหลังการขับถ่าย
  • ทำความสะอาดผิวหนังด้วย 3M CavilonTM No-Rinse Skin Cleanser โดยไม่ต้องล้างออกด้วยน้ำ
  • ปล่อยให้แห้ง

2. 3M CavilonTMDurable Barrier Cream

ข้อบ่งใช้

  • เพื่อปกป้องผิวหนังในผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง ต่อการถูกทำลายผิวหนัง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอย่างเรื้อรัง
  • เพื่อให้ความชุ่มชื้น และปกป้องผิวหนังที่แห้งมาก (ครีมนี้ไม่มีผลต่อการยึดติดของผลิตภัณฑ์ปิดแผล และเทปกาวทางการแพทย์)
  • ใช้ได้ทั้งกับทารกคลอดกำหนด ทารกปกติ เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

วิธีใช้

  • ทำความสะอาดผิวหนัง
  • ทา 3M CavilonTMDurable Barrier Cream ให้ทั่วบริเวณผิวหนังที่ต้องการปกป้อง
  • สามารถทาซ้ำได้ หากจำเป็น ถ้ารู้สึกเหนียวเหนอะหนะ แสดงว่าใช้ปริมาณมากเกินควร

คำเตือน

  • ผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอกเท่านั้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา
  • ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าใช้แล้วยังคงมีอาการลุกลาม หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 7วัน
  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • หลีกเลี่ยงการใช้กับบุคคล ที่มีประวัติแพ้สารที่เป็นส่วนประกอบที่ระบุไว้ข้างหลอดครีม

การเก็บรักษา

  • เก็บที่อุณหภูมิห้อง
  • ห้ามแช่ในช่องแช่แข็ง
  • เก็บให้ห่างจากความชื้นและความร้อน

2. 3M CavilonTMNo Sting Barrier Film

คุณประโยชน์

  • • ป้องกันผิวหนังเสียหายจากการสัมผัสปัสสาวะ/ อุจจาระ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ เนื่องจากสามารถอยู่บนผิวหนังนานถึง 72 ชั่วโมง
  • ป้องกันผิวหนังเสียหาย จากการหลุดลอกหรือฉีกขาด จากเทปกาวทางการแพทย์

ข้อบ่งใช้

  • ทาบนผิวหนังที่ปกติ เพื่อป้องกันการสัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย และเทปกาวทางการแพทย์
  • ทาบนผิวหนังที่มีอาการเสียหายแล้ว เพื่อลดการเสียดสี
  • ทาบนผิวหนังผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพื่อป้องกันการทำลายผิวหนัง

วิธีใช้

  • ล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาทำความสะอาด
  • เช็ดให้แห้ง
  • ทาหรือฉีด 3M CavilonTM No Sting Barrier Film ตรงบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งของร่างกาย
  • หากต้องการฉีดซ้ำ ควรรอให้ฟิล์มที่ทาหรือฉีดครั้งแรกแห้งสนิทก่อน

ข้อห้ามใช้

  • ห้ามใช้ทาหรือฉีดปกคลุมผิวหนังแทนวัสดุปิดแผล เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น ทาหรือฉีดบริเวณให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
  • ห้ามทาบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ

 

 

ผู้ลิขิต

อาจารย์วิภาวี หม้ายพิมาย
รองศาสตราจารย์พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 

 

 

 
หน้าหลัก