คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
 

การวิจัย

KM ภาควิชาและสำนักงาน
เรื่อง การพัฒนาอาจารย์และการจัดการเรียนการสอน

         ภาควิชาการพยาบาลรากฐานจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ " ประสบการณ์จากการเข้าอบรมหลักสูตร Nursing Specialist Program on Nursing Care/ Management สาขา Neurology Nursing ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 11 เมษายน 2557" เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 เวลา 12.00 – 13.30 น. ณ ห้อง 1004 อาคารพระศรีพัชรินทร ชั้น 10 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์การศึกษาแก่คณาจารย์ภายในภาควิชาการพยาบาลรากฐาน โดยมี อาจารย์ทีปภา แจ่มกระจ่างและอาจารย์วิภาวี หม้ายพิมาย เป็นผู้นำกิจกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์ เป็นคุณอำนวย และอาจารย์จิรวรรณ มาลา และอาจารย์เสาวลักษณ์ สุขพัฒนศรีกุล เป็นคุณลิขิต ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

• หลักสูตรการอบรม

การอบรม Nursing Specialist Program on Nursing Care/ Management สาขา Neurology Nursing ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 11 เมษายน 2557 ซึ่งได้รับทุนจากกองงานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมระยะเวลาการรับทุน 2 สัปดาห์ ภายใต้โครงการเพิ่มความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของหน่วยงาน โรงพยาบาลตันต็อกเส็ง (Tan Tock Seng Hospital) มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 20 คน เป็น อาจารย์จากคณะพยาบาลศาสตร์ จำนวน 8 คน และพยาบาล จากโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 12 คน

• วัตถุประสงค์

การฝึกอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะของพยาบาลและอาจารย์พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง โดยมีวัตถุประสงค์ย่อย ดังนี้

1) ศึกษาวิทยาการความก้าวหน้าและการวิจัยเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ และโรคเนื้องอกสมอง

2) ศึกษาข้อมูลในภาพรวมของการดำเนินงาน และการเพิ่มพูนประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนา ระบบงานในโรงพยาบาล เพื่อการจัดการปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยโรคทางสมอง

3) ศึกษาแนวคิดและวิธีการทำงานร่วมกันของทีมสหสาขาวิชาชีพ ในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง

4) ศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง ทั้งใน โรงพยาบาลและชุมชน

5) ศึกษานวัตกรรมด้านความปลอดภัยในการพยาบาลผู้ป่วยโรคทางสมอง

6) ศึกษาแนวทางการจัดการเชิงรุกและการดูแลต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง

7) ศึกษาแนวทางการฝึกทักษะและการสอนญาติผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง

8) ศึกษาแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้ป่วยโรคทางสมอง

9) ศึกษาแนวทางการจัดหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมทางการพยาบาลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง

เนื้อหา

การฝึกอบรมครอบคลุมด้านความรู้และการฝึกทักษะเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง ตลอดจนแนวทางการพยาบาลสำหรับผู้ป่วยและญาติ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางสมองที่พบบ่อย ได้แก่ Ischemic and hemorrhagic stroke , Parkinson's disease, Dementia, Brain tumor, Head injury, Epilepsy และ Movement disorders และแนวทางการดูแลรักษาแบบใหม่จากการประชุมวิชาการ ซึ่งมีการนำเสนองานวิจัยในการดูแลผู้ป่วย Parkinson's disease โดยทีมสหสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น การนำ Butulinum toxin การทำ Deep Brain Stimulation มาใช้ในการรักษา ตลอดจนการฝึกการทรงตัวในผู้ป่วย Parkinson's disease โดยใช้การ Dance และการทำ Resistance training in Parkinson's disease เป็นต้น

นอกจากนี้ การฝึกอบรมยังครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง รวมทั้งแนวทางการพัฒนาหลักสูตรทางการพยาบาลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง ตลอดจน งานด้านการเรียนการสอน ประวัติและหลักสูตรทางการพยาบาลระดับอาชีวศึกษาของสิงคโปร์

ภาพที่ 1 แสดงผู้บริหารโรงพยาบาล Tan Tock Seng ท่านอัครราชทูตและคณะผู้เข้าอบรม


• ประโยชน์ที่ได้รับ

ประโยชน์ต่อตนเอง คือ ได้พัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมองและ ประโยชน์ต่อหน่วยงาน คือ นำความรู้และทักษะที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง สำหรับนักศึกษาพยาบาลและให้ความรู้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง

• ปัญหา /อุปสรรค

ระยะเวลาในการฝึกอบรมโครงการเพิ่มความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ค่อนข้างสั้น แต่เนื้อหาในการอบรมมีจำนวนมาก ทำให้มีเวลาในการฝึกทักษะค่อนข้างน้อย จึงควรมีการขยายระยะเวลาการอบรม โดยเพิ่มเวลาสำหรับการฝึกทักษะเพื่อฝึกความเชี่ยวชาญให้มากขึ้น การไปดูงานด้านการศึกษาทางการพยาบาลครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการดูงานด้านการเรียนการสอนทางการพยาบาล เนื่องจากเวลาจำกัด ควรเพิ่มระยะเวลาในการดูงานเพื่อเจาะลึกด้านหลักสูตรทางการพยาบาลถึงโครงสร้างของหลักสูตรด้วย

• ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าอบรม

1) ควรมีการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาการเรียน การสอนด้านการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง เช่น

- มี Simulation Learning Center สำหรับนักศึกษาพยาบาลในการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินทางระบบประสาท ก่อนการดูแลผู้ป่วยบนหอผู้ป่วย
- มีการพัฒนา E-learning หรือ Web-based learning ในลักษณะ interactive approach เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสรีรวิทยาทางระบบประสาท คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้และค้นคว้าด้วยตนเอง เป็นต้น

2) ควรมีการนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ในการเรียนการสอนและการปฏิบัติพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมองให้เป็นมาตรฐานและทันสมัย

3) ควรมีการจัดอบรมระยะสั้น Caregiver training/Patient Education, Community Nursing Training เกี่ยวกับ Neurological Nursing Care

4) ควรมีการส่งเสริมบทบาทพยาบาลขั้นสูง (Advanced Practice Nurse: APN) ในการปฏิบัติพยาบาล ร่วมกับทีมพยาบาลและสหสาขาวิชาชีพ เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมองให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้ลิขิต

อาจารย์จิรวรรณ มาลา
อาจารย์เสาวลักษณ์ สุขพัฒนศรีกุล

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

 

 
หน้าหลัก