คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
 

การวิจัย

KM ภาควิชาและสำนักงาน
เรื่อง ความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล หัวข้อ เทคนิค Catheterization

         ภาควิชาการพยาบาลรากฐานได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล ในหัวข้อ “เทคนิค Catheterization” เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 4  กรกฎาคม  2556 เวลา 12.30-13.30 น. ณ ห้อง 1004 อาคารพระศรีพัชรินทร ชั้น 10 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐสุรางค์  บุญจันทร์ เป็นผู้นำกิจกรรม รองศาสตราจารย์สมจินต์    เพชรพันธุ์ศรี เป็นคุณอำนวย    และอาจารย์จิรวรรณ  มาลา/ รองศาสตราจารย์พัสมณฑ์  คุ้มทวีพร เป็นคุณลิขิต ซึ่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้เน้นเฉพาะประเด็นการสวนคาสายสวนปัสสาวะ เนื้อหาประกอบด้วยเรื่อง ความสำคัญของการสวนปัสสาวะ เครื่องใช้ในการสวนปัสสาวะ และวิธีการสวนปัสสาวะโดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ความสำคัญของการสวนปัสสาวะ

การสวนปัสสาวะ (urinary catheterization) หมายถึง การสอดใส่สายสวน (catheter) จากภายนอกผ่านท่อปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ แบ่งตามเทคนิคได้ 2 ชนิด ได้แก่ การสวนปัสสาวะชนิดเป็นครั้งคราว (intermittent catheterization) และการสวนปัสสาวะชนิดคาสายปัสสาวะ (indwelling catheterization or retained catheterizations: IUCs) ซึ่งการสวนปัสสาวะชนิดคาสายปัสสาวะมีอุบัติการณ์สูงขึ้นในผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ แม้การสวนปัสสาวะจะถูกต้องตามข้อบ่งชี้ (เช่น ป้องกันการอุดกั้นของท่อปัสสาวะภายหลังผ่าตัดผ่านท่อปัสสาวะ หรือมีลิ่มเลือดในท่อปัสสาวะ ฯลฯ) แต่โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบขับถ่ายปัสสาวะในผู้ป่วยที่คาสวนปัสสาวะก็เพิ่มขึ้น ในสหรัฐอเมริกาพบปัญหาภาวะ Cather-associated urinary tract infection (CAUTI) ถึงร้อยละ 34 ผลที่ตามมา คือ การเพิ่มค่าใช้จ่ายในระดับครอบครัวและประเทศ การป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะจึงเป็นการพยาบาลที่สำคัญ

เครื่องใช้ในการสวนปัสสาวะ

1. ชุดสวนปัสสาวะปลอดเชื้อ ประกอบด้วย ชามรูปไต 2 ใบ ปากคีบชนิดไม่มีเขี้ยว (non tooth forceps) 1 อัน ก๊อซ 1 ผืน ชามกลม 2 ใบ พร้อมสำลีชำระ และผ้าสี่เหลี่ยมเจาะกลาง 1 ผืน) ให้พิจารณาว่าชุดสวนปัสสาวะปลอดเชื้อ โดยสังเกตว่า อยู่ในสภาพพร้อมใช้ บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ไม่หมดอายุ และไม่เปียกชื้น

2. น้ำยาระงับเชื้อ (antiseptic solution) ที่ใช้ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกก่อนสวนปัสสาวะ พบว่ามีความแตกต่างกัน เช่น อเมริกา นิยมใช้ Providine ยุโรปใช้ 1% Cholxididine อังกฤษใช้ NSS และไทยใช้ Sterite water แต่เนื่องจากยังไม่มีการวิจัยที่จัดเจนในไทยว่าควรจะใช้น้ำยาชนิดใดเพื่อลดการติดเชื้อ จึงควรทำวิจัยในเรื่องนี้ต่อไปด้วย

3. สารหล่อลื่น (lubrication gel) เพื่อลดความปวด และช่วยให้ผู้ป่วยสุขสบายขณะใส่สายสวนปัสสาวะ ได้แก่ K-Y jelly,  xylocain jelly  นิยมใช้ anaesthetic lubricating gels จึงให้ใช้เฉพาะ xylocain jelly  การทาสารหล่อลื่น ควรทาให้ทั่วปลายสายสวนปัสสาวะ โดยเริ่มจากจุดปลายสุดของสายสวนปัสสาวะ (ไม่อุดรูของสายสวนปัสสาวะ) มากน้อยให้เหมาะสม คือ ผู้ป่วยหญิงควรทาสารหล่อลื่นยาว 6 เซนติเมตร และผู้ป่วยชายยาว 10-15 เซนติเมตร ทั้งนี้ ในการใส่สายสวนปัสสาวะควรรอให้ยาชาออกฤทธิ์ด้วย ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที

วิธีการสวนคาสายสวนปัสสาวะ  (Indwelling catheterization) มีวิธีปฏิบัติดังนี้

1. ตรวจสอบชื่อผู้ป่วย และชนิดของการสวนปัสสาวะให้ถูกต้อง
2. ประเมินสภาพผู้ป่วย
3. อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับ ความจำเป็น ข้อดี ข้อเสียของในการสวนปัสสาวะ วิธีปฏิบัติตัวขณะสวนปัสสาวะ และวิธีปฏิบัติตัวขณะคาสายสวนปัสสาวะ
4. จัดเตรียมอุปกรณ์ให้ถูกต้องและเหมาะสม
5. ล้างมือให้สะอาด
6. จัดสถานที่:  ปิดประตู/ กั้นม่านให้มิดชิด เปิดไฟให้มีแสงสว่างเพียงพอ จัดวางอุปกรณ์ในที่ที่เหมาะสม
7. จัดท่านอนให้เหมาะสม (ผู้ป่วยหญิง: Dorsal recumbent position ผู้ป่วยชาย: Dorsal position)
8. ชำระอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกให้สะอาด
9. ล้างมือให้สะอาด และใช้เทคนิคปลอดเชื้อตามลำดับ ดังนี้
10. เปิดชุดสวนปัสสาวะ  เทน้ำยาระงับเชื้อที่สำลีในชามกลมพอให้สำลีเปียกชุ่ม บีบสารหล่อลื่นลงบนก๊อซในชามรูปไต
11. ฉีกซองสายสวนปัสสาวะและวางในชุดสวนปัสสาวะ
12.ใส่ถุงมือปลอดเชื้อ
13. ทาปลายสายสวนปัสสาวะด้วยสารหล่อลื่น
14. นำผ้าสี่เหลี่ยมเจาะกลางคลุมบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก โดยให้ช่องเจาะกลางอยู่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก โดยไม่เปิดให้เห็น anus ของผู้ป่วย
15. วางชามกลมใบว่างไว้ใกล้ผู้ป่วย และชามกลมใบที่ใส่สำลีวางถัดออกมา
16. ใช้ปากคีบทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ดังนี้

  • ผู้ป่วยหญิง: ทำความสะอาดแคมนอก แคมใน แล้วใช้นิ้วมือข้างไม่ถนัดแหวกแคมในให้เห็น external urethral orifice ใช้มือข้างที่ถนัดหยิบปากคีบเพื่อใช้สำลีเช็ด external urethral orifice ให้แหวกแคมในค้างไว้ เพื่อสอดสายสวนปัสสาวะ
  • ผู้ป่วยชาย: ใช้มือข้างไม่ถนัดรูดหนังหุ้มปลายองคชาตลง ใช้มือข้างที่ถนัดหยิบปากคีบเพื่อใช้สำลีเช็ด external urethral orifice วนออก แล้วเช็ดลงมาที่ฐานองคชาต ทำซ้ำจนรอบองคชาต ใช้มือข้างไม่ถนัดจับปลายองคชาตตั้งขึ้น (ทำให้ท่อปัสสาวะเป็นแนวตรง สวนปัสสาวะได้ง่าย) ในขณะสอดสายสวนปัสสาวะจนกระทั่งมีปัสสาวะไหลออกมา

17. ใช้มือข้างที่ถนัดจับปากคีบเพื่อเลื่อนชามกลมทั้งสองใบออกจากผู้ป่วย แล้ววางปากคีบลงในชามกลม ระวังให้มือข้างที่ถนัดปลอดเชื้อตลอดเวลา
18. ใช้มือข้างที่ถนัดยกชามรูปไตที่ใส่สายปัสสาวะมาวางไว้บริเวณใกล้ๆ ผู้ป่วย
19.ใช้มือข้างที่ถนัดจับสายสวนปัสสาวะ โดยปลายสายอีกข้างหนึ่งอยู่ในชามรูปไต
20. สอดสายสวนปัสสาวะเข้า external urethral orifice  จนมีปัสสาวะไหลลงสู่ชามรูปไต
21. สอดสายสวนปัสสาวะ เข้าไปอีก 1 นิ้ว เพื่อป้องกัน rupture urethra
22. ใส่น้ำกลั่น 10 มิลลิลิตร เข้าทางหางแถบสีส้ม เพื่อให้ลูกโป่งขยายในกระเพาะปัสสาวะ
23. ค่อยๆ ดันสายสวนปัสสาวะเข้าไปเบา ๆ เพื่อลดการดึงรั้งที่บริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ
24. ต่อปลายสายสวนปัสสาวะกับ Urinary bag  
25. ใช้พลาสเตอร์ตรึงสายสวนปัสสาวะไว้กับหน้าขาของผู้ป่วยหญิง/ หน้าท้องน้อยของผู้ป่วยชาย
26. จัดสายของ Urinary bag  ให้ติดกับเหล็กข้างเตียงด้วยตัวหนีบ เพื่อให้เป็นแนวตรง ไม่เป็นท้องช้าง
27. แขวน Urinary bag  ไว้ที่ด้านข้างใต้เตียง โดย 1. อยู่ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะ 2. ไม่วางติดพื้น
28. เก็บเครื่องใช้ออกจากเตียงผู้ป่วย
29. ถอดถุงมือ
30. จัดเสื้อผ้าให้ผู้ป่วย จัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สุขสบาย ซักถามประเมินอาการต่างๆ
31. เปิดประตู/ ม่าน
32. เก็บเครื่องใช้ไปทำความสะอาด
33. ล้างมือให้สะอาด
34. บันทึกการสวนปัสสาวะ: วัน เวลา สาเหตุ ชนิดของการสวนปัสสาวะ ขนาดของสายสวนปัสสาวะลักษณะปัสสาวะ (ปริมาณ สี กลิ่น และสิ่งผิดปกติ) และอาการของผู้ป่วย ในเอกสารบันทึกการพยาบาล

เอกสารอ้างอิง
1. Geng V, Cobussen-Boekhorst  H,  Farrell J, Gea-Sแnchez  M, Pearce I, Schwennesen T and et al. Evidence-based Guidelines for Best Practice in Urological Health Care Catheterisation indwelling catheters in adults urethral and suprapubic. European association of urology nurses. February 2012 (http://www.uroweb.org/nurses/nursingguidelines/) and the EAUN website (www.eaun.uroweb.org)

2. Regina F, Heather G, Angela R, Elizabeth C, Marie B and Heidi W.Indwelling urinary catheter management and catheter-associated urinary tract infection prevention practices in nurses improving care for healthsystem elders hospitals. American journal of infection control; 40(2012):715-20.

 

ผู้ลิขิต

อาจารย์จิรวรรณ  มาลา
                           รองศาสตราจารย์พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร

ผู้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

1. รศ.จันทนา                 รณฤทธิวิชัย
2. ผศ.ณัฐสุรางค์            บุญจันทร์
3. รศ.วัฒนา                   พันธุ์ศักดิ์
4. รศ.ปรางค์ทิพย์          อุจะรัตน
5. รศ.พัสมณฑ์              คุ้มทวีพร
6. รศ.ลิวรรณ                 อุนนาภิรักษ์
7. รศ.ดร.วีนัส                ลีฬหกุล
8. รศ.สมจินต์                เพชรพันธุ์ศรี
9. ผศ.ดร.นารีรัตน์              จิตรมนตรี
10. ผศ.ดร.วิราพรรณ           วิโรจน์รัตน์
11. ผศ.ดร.เสาวลักษณ์       จิรธรรมคุณ
12. อาจารย์ทีปภา              แจ่มกระจ่าง
13. อาจารย์อรุณรัตน์          คันธา
14. อาจารย์จิรวรรณ            มาลา
15. อาจารย์วิภาวี               หม้ายพิมาย
16. อาจารย์เสาวลักษณ์      สุขพัฒนศรีกุล

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

การนำองค์ความรู้ไปใช้

         ในการสอนเรื่องการสวนปัสสาวะ (Catheterization)” ในภาคการศึกษาปลาย  ปีการศึกษา 2556 ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 - 28 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ห้องบรรยาย และห้องสาธิตทางการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาเขตศาลายา) อาจารย์ผู้สอบทุกท่านได้นำองค์ความรู้จากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล ในหัวข้อ “เทคนิค Catheterization” ไปใช้ ผลคือ การสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมีความสอดคล้องกัน มีการเน้นประเด็นต่างๆ ได้แก่

1. การปรับเครื่องใช้ในการสวนปัสสาวะให้คล้ายกับการปฏิบัติบนหอผู้ป่วย
2. จัดเตรียมอุปกรณ์ให้ถูกต้อง โดยเพิ่มการฉีกซองสายสวนปัสสาวะและวางในชุดสวนปัสสาวะก่อนการใส่ถุงมือปลอดเชื้อ
3. วิธีการสวนปัสสาวะที่ปลอดเชื้อ โดยเน้นการสอดสายสวนปัสสาวะเข้า external urethral orifice  จนมีปัสสาวะไหลลงสู่ชามรูปไต แล้วให้สอดสายสวนปัสสาวะ เข้าไปอีก 1 นิ้ว เพื่อป้องกัน rupture urethra ก่อนการใส่น้ำกลั่น 10 มิลลิลิตร เข้าทางหางแถบสีส้ม
4. การบันทึกการสวนปัสสาวะในเอกสารบันทึกการพยาบาล ได้แก่
         4.1 วัน เวลา
         4.2 สาเหตุที่ต้องสวนคาสายสวนปัสสาวะ
         4.3 ชนิดของการสวนปัสสาวะ
         4.4 ขนาดของสายสวนปัสสาวะ
         4.5 ลักษณะปัสสาวะ จัดเตรียมอุปกรณ์ให้ถูกต้อง ปริมาณ สี กลิ่น และสิ่งผิดปกติ
          4.6 อาการของผู้ป่วย

 

ผู้ติดตามผลการนำองค์ความรู้ไปใช้
รศ.พัสมณฑ์        คุ้มทวีพร

 

ผู้นำองค์ความรู้ไปใช้

. ผศ.ณัฐสุรางค์           บุญจันทร์
2. รศ.วัฒนา                พันธุ์ศักดิ์
3. รศ.ปรางค์ทิพย์         อุจะรัตน
4. รศ.พัสมณฑ์             คุ้มทวีพร
5. รศ.ลิวรรณ              อุนนาภิรักษ์
6. รศ.ดร.วีนัส              ลีฬหกุล
7. รศ.สมจินต์              เพชรพันธุ์ศรี
8. ผศ.ดร.เสาวลักษณ์     จิรธรรมคุณ
9. อาจารย์ทีปภา             แจ่มกระจ่าง
10. อาจารย์ธัญยรัชต์       องค์มีเกียรติ
11. อาจารย์อรุณรัตน์     คันธา
12. อาจารย์จิรวรรณ      มาลา
13. อาจารย์วิภาวี         หม้ายพิมาย
14. อาจารย์เสาวลักษณ์   สุขพัฒนศรีกุล

 

 

 

 

 
หน้าหลัก