คณะพยาบาลศาสตร์
 
 
  การวิจัย

จิตอาสากับการพยาบาลผู้สูงอายุ   

         คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และคณะกรรมการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องจิตอาสากับการพยาบาลผู้สูงอายุ โดยมีวิทยากรจากภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คือ รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553 ณ ห้อง 505 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

         ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ ได้เริ่มต้นด้วยการขอให้ผู้เข้าร่วมได้ช่วยกันแสดงความคาดหวังของตนเองในการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มีความต้องการรู้กลวิธีในการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาว่ามีวิธีการอย่างไร และบางท่านต้องการที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ตนเองมี เมื่อได้ทราบความคาดหวังของผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ จึงได้เล่าประสบการณ์ของตนเองที่ได้มีโอกาสไปดูงานจิตอาสาที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต วัดทุ่งบ่อแป้น จ.ลำปาง

         ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาตแห่งนี้ มีท่านพระครูอาทรประชากิจเป็นผู้ริเริ่ม ตั้งแต่ ปี 2537 ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากการดูแลโยมแม่ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ท่านพระครูมีแนวคิดที่ว่าผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตต้องการคนดูแล เริ่มแรกได้ใช้โรงครัวของวัดเป็นที่ดูแลผู้ป่วย และมีพยาบาลจิตอาสาเข้ามาช่วย เริ่มจากมีพยาบาล 2 คน จนกระทั่งในขณะนี้มีพยาบาล 30 คน ซึ่งทุกคนเข้ามาด้วยจิตอาสา มาจากหลากหลายสาขา เช่น กุมาร ศัลย์ อายุรศาสตร์ ICU ฯลฯ การดำเนินการของศูนย์นี้มีการประสานงานกับโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง โรงพยาบาลห้างฉัตร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้างฉัตร และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง ซึ่งจากการประสานกับหน่วยงานเหล่านี้ ทำให้การทำงานของศูนย์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ศูนย์ฯ นี้ มีกิจกรรมที่ทำให้แก่ผู้ป่วยคือ ใช้ทำกิจกรรมทั้งประคบร้อนและออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์และเป็นห้องพักของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยก่อนที่จะเข้ามาฟื้นฟูที่ศูนย์นี้ จะต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ก่อนว่าไม่มีอันตรายแล้ว เหลือแค่การฟื้นฟูเท่านั้นจึงจะมาที่นี่

การนวดประคบความร้อนโดยใช้สมุนไพร มีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนแรก การประคบใบพลับพลึง โดยนำพลับพลึงไปอังไฟให้อุ่นแล้วนำมาประคบกล้ามเนื้อทั่วตัวผู้ป่วย
ขั้นตอนที่สอง ทำกายภาพ ด้วยการเคลื่อนไหวข้อต่างๆ(PROM) โดยหมุนข้อต่าง ๆ ทั่วร่างกายเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะข้อยึดติด
ขั้นตอนที่สาม ประคบร้อนด้วยลูกประคบ โดยใช้แอลกอฮอล์ร่วมด้วยเพื่อเป็นตัวนำความร้อนเข้าสู่กล้ามเนื้อที่ลึกขึ้น
ขั้นตอนที่สี่ แช่น้ำสมุนไพร เพื่อใช้ความอุ่นของน้ำช่วยคลายกล้ามเนื้อและกลิ่นของสมุนไพรคลายความตึงเครียดทางอารมณ์
ขั้นตอนที่ห้า ออกกำลังกาย (เคลื่อนไหวข้อฯ)ในน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์ (Equipment Therapy) เพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (ส่งเสริมและฟื้นฟูฯไปพร้อมกัน) มีบ่อเลนเพื่อสุขภาพ (ธรรมชาติบำบัด) เพื่อช่วยแก้ไขการเดินผิดท่า (เหวี่ยงขาเวลาเดิน) และฝึกการทำงานประสานกันของสมองกับกล้ามเนื้อ (coordination brain & muscle)

   

          จากเดิมที่ใช้โรงครัวเป็นที่ดูแลผู้ป่วย ปัจจุบันมีการก่อสร้างเรือนพักของผู้ป่วยที่มาฟื้นฟู มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วย และมีการจัดทำพื้นที่โล่งว่างภายในอาคารเพื่อให้ผู้ป่วยใช้สำหรับออกกำลังกายอีกด้วย ที่ศูนย์ฯ นี้จะมีการจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A, B, C สำหรับกลุ่ม A, B จะเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ผู้ที่ไปเยี่ยมบ้านจะประกอบด้วยพยาบาลจิตอาสาจากศูนย์ฟื้นฟูฯ, เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศูนย์ฯ, อสม. ผู้สูงอายุในชุมชน แต่ในกลุ่ม C ผู้ที่ไปเยี่ยมบ้านจะประกอบด้วยทีมแพทย์และสหวิชาชีพโรงพยาบาลห้างฉัตรร่วมกับทีมของศูนย์เยี่ยมผู้สูงอายุ โดยจะเยี่ยมจนกระทั่งญาติสามารถดูแลผู้ป่วยเองได้ นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจากวิทยาลัยลำปางมาฝึกและช่วยเหลือด้วย

          ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต วัดห้วยเกี๋ยง จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์ฯ อีกที่หนึ่งที่รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ ได้เล่าให้ฟัง ผู้ริเริ่มเป็นพระเช่นกัน ดำเนินกิจกรรมคล้ายกับศูนย์ฯ แรก โดยในศูนย์ฯ จะมีอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประดิษฐ์อย่างง่ายๆ และที่นี่ก็มีเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด และนักศึกษากายภาพบำบัดมาฝึกและช่วยเหลือเช่นกัน 

          รองศาสตราจารย์สมจินต์ เพชรพันธุ์ศรี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเองเกี่ยวกับ เรื่องการทำโครงการจิตอาสาในผู้สูงอายุ โดยในโครงการนี้ได้จัดให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่เคยมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วยกัน และต่อมามีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถมาเข้าร่วมได้อีก โดยได้ทำมา 3 ปีแล้ว ซึ่งก่อนจะไปเยี่ยมก็ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้ก่อนที่จะไปเยี่ยมเพื่อน ซึ่งผลการประเมิน พบว่าผู้สูงอายุมีความพึงพอใจมาก และวันนี้ที่ก้าวต่อไป อาจารย์ได้เริ่มทำโครงการจิตอาสาของนักศึกษา โดยนักศึกษาชั้นปี 2 ต้องเข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยจะไปทำกิจกรรมที่บ้านบางแค ไปดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งไปดูแลผู้สูงอายุตามบ้านด้วย ซึ่งการไปทำกิจกรรมทุกครั้งจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาไปด้วยเสมอ ในอนาคตอาจารย์คาดหวังว่าพื้นที่บางขุนนนท์ น่าจะเป็นพื้นที่ของมหิดลที่จะไปจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ต่อไป    

          สุดท้าย กลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ช่วยกันสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จของการทำจิตอาสา ไว้ดังนี้

  1. เริ่มที่ใจ มีความมุ่งมั่น เสียสละ
  2. มีเป้าหมายร่วมกัน
  3. มีแกนนำที่เป็นศูนย์รวมใจ
  4. มีการบริหารเวลาที่ดี
  5. ต้องลงมือปฏิบัติ แล้วถ่ายทอดประสบการณ์สู่ผู้อื่น
  6. ควรทำอย่างต่อเนื่อง
  7. ทำงานเป็นทีม

         ทางคณะกรรมการฯ ต้องขอขอบคุณวิทยากร และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนในวันนี้ ทำให้เราได้ข้อคิดที่ดีๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้เข้ามาพูดคุยกันอีกในครั้งต่อๆ ไป

อาจารย์ ดร.วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย
ผู้จดบันทึก

รายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม

1. รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ (วิทยากร)
2. รองศาสตราจารย์ถนอมขวัญ ทวีบูรณ์
3. รองศาสตราจารย์จันทนา รณฤทธิวิชัย
4. รองศาสตราจารย์สิริรัตน์ ฉัตรชัยสุชา
5. รองศาสตราจารย์สมจินต์ เพชรพันธุ์ศรี
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ จิตรมนตรี
7. อาจารย์ธนิษฐา สมัย
8. นางนภัสสร ลาภณรงค์ชัย 
9. นายภราดร รังโคกสูง
10. อาจารย์ ดร.วรวรรณ วาณิชย์จริญชัย (ผู้จดบันทึก)


 

 
หน้าหลัก