โฮมเพจคณะฯ

มหาวิทยาลัย
มหิดล

สถานที่
ติดต่อ

 

สถานที่ติดต่อ

 

 

 

 

 

 

 

  ขนาดตัวอักษร
กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ในมารดาวัยรุ่นไทย: การใช้แผนภาพมโนทัศ

อาจารย์ ดร.ศศิธารา น่วมภา วิทยากร
อาจารย์จิตต์ระพี บูรณศักดิ์ ผู้ลิขิต

ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนในมารดาวัยรุ่นไทย: การใช้แผนภาพมโน โดยมีอาจารย์ ดร.ศศิธารา น่วมภา เป็นวิทยากร ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้

แม้ว่าประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนจะเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวยังคงต่ำในประเทศไทย จากการสำรวจล่าสุดของ UNICEF ประเทศไทย พ.ศ. 2559 พบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพียงร้อยละ 23.1 ซึ่งห่างจากเป้าหมายระดับประเทศและนานาชาติที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 50 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มมารดาวัยรุ่น พบว่ามารดาวัยรุ่นมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำกว่ามารดาวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากมารดาวัยรุ่นต้องเผชิญทั้งความท้าทายของพัฒนาการตามช่วงวัยและการปรับตัวสู่บทบาทมารดาไปพร้อมกัน ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนในมารดาวัยรุ่นไทย  การศึกษานี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงผสมโดยการสร้างแผนภาพมโนทัศน์ (Concept Mapping Approach) มารดาวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีจำนวน 30 รายที่มีประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวถูกคัดเข้าในการศึกษานี้ โดยประสบการณ์จะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มกลุ่มละ 10 ราย (exclusive breastfeeding less than 1 month, 1-3 months, and 4-6 months) กิจกรรมที่มารดาเข้าร่วมประกอบด้วย กิจกรรมการระดมความคิดเพื่อตอบคำถามหลักของการวิจัย กิจกรรมรวมกลุ่มคำและจัดกลุ่มคำ กิจกรรมแปลผลการวิจัย และกิจกรรมการวาดภาพความสัมพันธ์ การวิเคราะห์ผลการวิจัยใช้โปรแกรม The Concept System Global MAX สถิติ Multidimensional Scaling and Hierarchical Cluster Analysis

ผลการวิจัยพบว่ามี 104 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนในมารดาวัยรุ่นไทย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มปัจจัยหลัก คือ 1) ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2) ปัจจัยสนับสนุนและทักษะที่จำเป็น 3) การส่งเสริมและสนันสนุนที่ต้องการ 4) อิทธิพลของชุมชนและสังคม 5) อุปสรรคจากภายนอกและภายใน และ 6) ปัญหาหลักที่เกิดในครอบครัว นอกจากนี้ผลของการเปรียบเทียบรูปแบบของกลุ่มปัจจัยหลัก (The Pattern Matching) พบว่า มารดาที่สามารถให้นมแม่ได้นานให้คะแนนความสำคัญของ ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นอันดับแรก ปัจจัยสนับสนุนและทักษะที่จำเป็นเป็นอันดับรองลงมา ขณะที่ปัญหาหลักที่เกิดในครอบครัวเป็นอันดับสุดท้าย ต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน นอกจากนี้ภาพความสัมพันธ์ของทั้ง 6 กลุ่มปัจจัยหลักถูกอธิบายผ่านประสบการณ์ของมารดาวัยรุ่นโดยใช้แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ (The Pathway Diagram)

ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนในมารดาวัยรุ่นควรให้ความสำคัญของปัจจัยในหลายระดับ โดยเฉพาะปัจจัยระดับบุคคล การสนับสนุนจากครอบครัว และการสนับสนุนจากบุคลากรทางสาธารณสุขการพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งเสริมความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในมารดาวัยรุ่นควรคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญเหล่านี้ รวมทั้งสร้างสมดุลระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และพัฒนาการตามช่วงวัยของมารดากลุ่มนี้ไปพร้อมกัน