โฮมเพจคณะฯ

มหาวิทยาลัย
มหิดล

สถานที่
ติดต่อ

 

สถานที่ติดต่อ

 

 

 

 

 

 

 

  ขนาดตัวอักษร
กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Management) ครั้งที่ 2/2563

อาจารย์สุดหทัย ประสงค์ วิทยากร
อาจารย์ ดร.กุลธิดา หัตถกิจพาณิชกุล ผู้ลิขิต


          ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “ผลของโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดา-ทารกต่อการตอบสนองความต้องการของทารกและความรักใคร่ผูกพันระหว่างมารดา-ทารกในมารดาที่มีบุตรคนแรก” โดยอาจารย์สุดหทัย ประสงค์ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมเพชรรัตน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (บางกอกน้อย)

           ความเป็นมาและความสำคัญ : การตอบสนองความต้องการของทารก เป็นความสามารถที่มารดาแสดงออกเพื่อให้ทารกได้รับสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรับรู้ การแปลความหมายสื่อสัญญาณของทารกที่แสดงออกมา หากมารดาสามารถอ่านและแปลความหมายจากสื่อสัญญาณของทารกได้อย่างถูกต้อง จะสามารถตอบสนองความต้องการของทารกได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้ามหากมารดไม่สามารถรับรู้และแปลสื่อสัญญาณทารกได้ถูกต้อง จะส่งผลให้มารดาตอบสนองความต้องการของทารกไม่เหมาะสมกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับทารก จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามารดาที่มีบุตรคนแรกมีปัญหาในการเลี้ยงดูทารก เนื่องจากไม่สามารถแปลความหมายพฤติกรรมทารกและตอบสนองความต้องการของทารกได้ ต้องการความดูแลช่วยเหลือจากบุคลากรการแพทย์โดยเฉพาะในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล จากปัญหาดังกล่าวจึงมีการศึกษาเกี่ยวกับผลของโปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการรับรู้และการตอบสนองความต้องการของทารก แต่การศึกษาที่ผ่านมาเป็นการวัดผลในระยะสั้นก่อนออกจากโรงพยาบาล ทำให้สือสัญญาณทารกบางประเภทยังไม่ปรากฎ ดังนั้นผู้วิจัยจึงพัฒนารูปแบบโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดา-ทารก ให้มีเนื้อหาครอบคลุมขึ้นและวัดผลระยะยาวขึ้นเป็น 1 เดือน

          วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดา-ทารกต่อการตอบสนองความต้องการของทารกและความรักใคร่ผูกพันระหว่างมารดา-ทารกในมารดาที่มีบุตรคนแรกเมื่อทารกอายุ
1 เดือน

          รูปแบบการวิจัย : การวิจัยกึ่งทดลอง

          วิธีการดำเนินการวิจัย : กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาที่มีบุตรคนแรกและทารกในหอผู้ป่วยหลังคลอด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 51 คู่แบ่งเป็นมารดาและทารกกลุ่มควบคุม 25 คู่ และกลุ่มทดลอง 26 คู่ กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติจากเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยหลังคลอด ส่วนกลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลตามปกติร่วมกับโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดา-ทารก เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการตอบสนองของมารดาต่อความต้องการของทารก และแบบสอบถามความรักใคร่ผูกพันของมารดาหลังคลอด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณา การทดสอบค่าที (Independent t-test) และสถิติ Mann-Whitney U

          ผลการวิจัย : กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการตอบสนองความต้องการของทารกและความรักใคร่ผูกพันระหว่างมารดา-ทารกหลังการทดลอง สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Z = -5.878, p <.05 c และ t = -6.116, p = <.05)