โฮมเพจคณะฯ

มหาวิทยาลัย
มหิดล

สถานที่
ติดต่อ

 

สถานที่ติดต่อ

 

 

 

 

 

 

 

  ขนาดตัวอักษร

การจัดการความรู้
การเตรียมตัวเพื่อการคลอด (Childbirth Preparation)

ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ การเตรียมตัวเพื่อการคลอด (Childbirth Preparation) ในวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2555 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ธิติมา จำปีรัตน์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปได้ดังนี้

แนวคิดเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อการคลอดมีความเป็นมาอย่างไร?

การเตรียมตัวเพื่อการคลอดเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1933 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และเริ่มเข้ามาในประเทศไทย โดยรองศาสตราจารย์กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล การเตรียมตัวเพื่อการคลอดนั้นมีวัตถุประสงค์ของการเตรียมตัวเพื่อการคลอด คือ

  1. เพื่อให้สตรีตั้งครรภ์มีความรู้ในการคลอดบุตร
  2. เพื่อเตรียมสตรีตั้งตั้งครรภ์ให้สามารถใช้เทคนิคการบรรเทาความเจ็บปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีตั้งครรภ์มีความมั่นใจและได้รับประสบการณ์ที่ดีในการคลอดบุตร

ทำไมจึงต้องมีการเตรียมตัวเพื่อการคลอด?

สตรีในเกือบทุกชาติทุกวัฒนธรรมมีการรับรู้หรือให้ความหมายกับการคลอดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดความเจ็บปวดที่สุดในชีวิต วัฒนธรรมไทยเปรียบการคลอดเหมือนภาวะออกศึกสงคราม คือ มีแต่ความไม่แน่นอน น่ากลัว ทุกข์ทรมานและอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  ยิ่งใกล้ระยะคลอดก็จะยิ่งทวีความกลัวและความวิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้เกิดการคลอดล่าช้าใช้เวลาในการคลอดยาวนานขึ้น การเตรียมตัวเพื่อการคลอดจะช่วยลดความวิตกกังวล ความกลัวและความเครียดที่เกิดขึ้นในระยะคลอดได้ สตรีที่ได้รับการเตรียมจะมีความมั่นใจในสมรรถนะของตนในการเผชิญกับภาวะเจ็บปวดในระยะคลอดได้ ซึ่งอิทธิพลด้านร่างกายที่ทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด เกิดจากการหดรัดตัวของลูก แรงดันในโพรงมดลูก การถูกดึงรั้งออกของกระดูกเชิงกราน กล้ามเนื้อและฝีเย็บ นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลด้านจิตใจและสังคม เกิดจากความไม่คุ้นเคย ความกลัว สับสน ความคาดหวังกับความเจ็บปวดและประสบการณ์ที่ผ่านมาของสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้จะแตกต่างกันในสตรีตั้งครรภ์แต่ละราย

แนวคิดการเตรียมสตรีตั้งครรภ์เพื่อการคลอดโดยวิธีธรรมชาติ (Natural childbirth)

1. Dick Read Method “Childbirth without Fear”

Dick Read (คศ. 1933) สูติแพทย์ชาวอังกฤษ เชื่อว่าการเจ็บครรภ์คลอดเกิดจากวงจรของความเจ็บปวด 3 อย่าง คือ ความกลัว ความเครียด และความเจ็บปวด การลดความเจ็บปวดคือการตัดวงจรของความเจ็บปวด โดยการลดความความกลัว โดยอาจจะสร้างความคุ้นเคย ให้ความรู้ คำแนะนำและกำลังใจกับสตรีตั้งครรภ์ หรือลดความเครียด โดยการจัดสถานที่ สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศให้ผ่อนคลาย อาจใช้เสียงดนตรีที่ผ่อนคลาย กลิ่นน้ำมันหอมระเหย หรือใช้แสงที่พอเหมาะกับการพักผ่อน

2. Lamaze Method (คศ.1951) ลามาซ (Ferdinand Lamaze) สูติแพทย์ชาวฝรั่งเศสได้นำเสนอวิธีการเตรียมตัวเพื่อการคลอดด้วยกลวิธีป้องกันทางจิต (Psychoprophylaxis) โดยนำพื้นฐานความรู้จากทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไขของ Pavlov มาใช้  วิธีการของลามาซประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน ดังนี้

ClassicLamaze ประกอบด้วย 3 กระบวนการ คือ

  1. Conditional การสร้างเงื่อนไขให้ผู้คลอด เช่น การใช้เทคนิคการหายใจ เมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูกให้หายใจเข้าลึกๆ และเป่าลมออกทางปาก 6-8 ครั้งต่อนาที
  2. Concentration (Focusing) การมุ่งจุดสนใจอยู่ที่การใช้เทคนิคการหายใจเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจออกจากความเจ็บปวด
  3. Discipline ผู้คลอดจะต้องสามารถปฎิบัติการใช้เทคนิคการหายใจได้เอง โดยไม่ต้องมีผู้กำกับ

Adapted Lamaze คือ การให้ความรู้แก่ผู้คลอด และให้ผู้คลอดได้ฝึกใช้เทคนิคการบรรเทาความเจ็บปวดต่างๆ โดยสตรีตั้งครรภ์ต้องเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น การสร้างจินตภาพ คือ จินตนาการถึงภาพที่สวยงาม หรือใบหน้าของบุตร หรือการใช้ดนตรีบำบัด โดยมีคำแนะนำว่าไม่ควรใช้ดนตรีที่มีจังหวะช้าเกินไป เนื่องจากจะทำให้จังหวะของการหดรัดตัวของมดลูกช้าตามไปด้วย และควรเป็นดนตรีบรรเลง จึงจะเหมาะสมกับระยะแรกของการคลอด

แนวคิดของลามาซแพร่หลายมากในแถบตะวันตก มีผู้นำมาใช้มากมายและจากผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลของการเตรียมตัวเพื่อคลอดด้วยวิธีการของลามาซ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา เช่น เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการโภชนาการ การให้นมทารกแรกเกิดและภาวะเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการปฏิบัติตนในระยะ หลังคลอดเป็นต้นและเทคนิคต่างๆ เช่นเทคนิคการหายใจปรับให้ยืดหยุ่นมากขึ้นไม่ต้องหายใจตามรูปแบบอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

แนวคิดการเตรียมสตรีตั้งครรภ์เพื่อการคลอดด้วยวิธีการคลอดด้วยตนเอง (Active Birth)
ความหมายของการคลอดด้วยตนเอง หมายถึงการคลอดที่ดำเนินตามกระบวนการทางธรรมชาติและสัญชาตญาณของการเป็นผู้ให้กำเนิด โดยผู้คลอดเป็นผู้กำหนดปัจจัยสนับสนุนการคลอดและกระทำด้วยตนเองรวมทั้งใช้สิทธิของตนในการตัดสินใจทางเลือกเมื่อจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาหรือการช่วยเหลือ ปัจจัยสนับสนุนการคลอดตามกระบวนการธรรมชาติประกอบด้วยกาย จิต สิ่งแวดล้อมและสังคม การคลอดด้วยตนเองจึงเป็นวิธีการคลอดที่สามารถนำมาอธิบายให้เห็นว่าสตรีที่ได้รับการเสริมพลังอำนาจในการคลอดจะรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน สามารถใช้สิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลที่มีผลต่อตนเองและบุตร รับรู้เรื่องและสามารถควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดการคลอดโดยใช้ความรู้สามารถของตนเอง

การเตรียมสตรีตั้งครรภ์เพื่อการคลอดในแนวคิดนี้ สตรีตั้งครรภ์ควรได้รับความรู้และการฝึกทักษะที่จะช่วยให้การคลอดดำเนินไปตามธรรมชาติใน 4 เรื่องด้วยกัน คือ
          1.  การเคลื่อนไหว (Movement) และท่าคลอด (Position)
          2.  การหายใจ (Breathing)
          3.  การบริหารร่างกาย (Exercise)
          4.  การนวด (Massage)

นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการบรรเทาความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยา (Non pharmacologic methods of pain relief) ได้แก่

  1. เทคนิคการผ่อนคลาย (Relaxation Technique)
  2.  เทคนิคการหายใจ (Breathing Technique)
  3. เทคนิคการลูบหน้าท้อง (Effleurage)
  4. การนวด (Massage)
  5. ดนตรีบำบัด (Music Therapy)
  6. เสาวคนธบำบัด (Aroma Therapy)
  7. การสัมผัสเพื่อการรักษา (Therapeutic Touch)
  8. การใช้จินตภาพ (Imagination)
  9. การใช้ความร้อนและความเย็น (Heat and Cold)
  10. ธารบำบัด (Hydrotherapy)

 

อาจารย์จารุพร เพ็ชรอยู่ ผู้ลิขิต