โฮมเพจคณะฯ

มหาวิทยาลัย
มหิดล

สถานที่
ติดต่อ

 

สถานที่ติดต่อ

 

 

 

 

 

 

 

  ขนาดตัวอักษร

การจัดการความรู้

วิทยานิพนธ์ เรื่อง "ปัจจัยส่วนบุคคล เวลาที่เริ่มให้นมแม่ และการสนับสนุนจากพยาบาล ในการทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายในมารดาหลังผ่าตัดคลอด"

คณะกรรมการพัฒนาอาจารย์และการจัดการความรู้ ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาได้จัดกิจกรรมการจัดการความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง “ปัจจัยส่วนบุคคล เวลาที่เริ่มให้นมแม่ และการสนับสนุนจากพยาบาล ในการทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายในมารดาหลังผ่าตัดคลอด”โดยมี อาจารย์ ศศิธารา น่วมภา อาจารย์ประจำของภาควิชาฯ เป็นวิทยากร เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 เวลา 12.30 – 13.30 น.ณ ห้อง 801/1 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทำนาย (Predictive research design) มีวัตถุประสงค์เพื่อ
ศึกษาอำนาจในการทำนายของอายุ  ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  การรับรู้สมรรถนะในตนเอง  เวลาที่เริ่มให้นมแม่ และการสนับสนุนจากพยาบาล  ต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายในมารดาหลังผ่าตัดคลอด ใช้กรอบแนวคิดในการวิจัยดังนี้

ประชากร ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้  เป็นมารดาหลังคลอดที่คลอดด้วยวิธีการผ่าตัด  ที่หอผู้ป่วยหลังคลอดสามัญ  ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา  โรงพยาบาลศิริราช คำนวณขนาดของกลุ่มตัวอย่าง ตามหลักการวิเคราะห์สถิติถดถอยโลจิสติค (Logistic regression analysis) (Tabachnick  & Fidell, 2001)  ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 110 ราย

เครื่องมือที่ใช้วิจัยประกอบด้วยเครื่องมือ  6  ชุด ดังนี้

  1. แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล
  2. แบบบันทึกข้อมูลการตั้งครรภ์และการคลอด
  3. แบบสอบถามทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ของ De La Mora และ Russell (1999)  มีข้อคำถามทั้งหมด 17 ข้อ
  4. แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะในตนเองเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ของ Dennis (2003) แปลเป็นภาษาไทยด้วยเทคนิคการแปลย้อนกลับ โดยเบญจมาส ทัศนะสุภาพ (2549) มีข้อคำถาม 14 ข้อ
  5. แบบสอบถามการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากพยาบาล  ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม  แบ่งเป็นการสนับสนุน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอารมณ์ ด้านข้อมูล ข่าวสาร และด้านสิ่งของและบริการ มีข้อคำถาม 12 ข้อ ( เพิ่มเติมข้อคำถามเพื่อประเมินภาพรวม ของการสนับสนุนจากพยาบาลจำนวน 2 ข้อ ซึ่งไม่นำมาคิดคะแนน )
  6. แบบบันทึกการให้อาหารทารก
    การหาความตรง (Validity)  เสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน  5 ท่าน  การหาความเที่ยง (Reliability)หาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค ดังนี้

    1) แบบสอบถามทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เท่ากับ 0.64
    2) แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะในตนเองเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เท่ากับ 0.87
    3) แบบสอบถามการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากพยาบาล เท่ากับ 0.90

ผลการวิจัยพบว่า

  1. อายุของมารดาสามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 [Exp (B) = 1.102, 95%CI = 1.009-1.203]
  2. การสนับสนุนจากพยาบาล สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 [Exp (B) = 1.089, 95%CI = 1.021-1.161]
  3. เวลาที่เริ่มให้นมแม่ สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 [Exp (B) = 0.890, 95% CI = 0.821-0.965]
  4. ผลการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก พบว่าการรับรู้สมรรถนะในตนเองเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้ (p = 0.860)
  5. ผลการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก พบว่าทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้ (p = 0.707)
  6. ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้ (p = 0.120)

ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

  1. ผลการศึกษาพบว่า อายุมารดา  การสนับสนุนจากพยาบาล และเวลาที่เริ่มให้นมแม่สามารถทำนายโอกาสที่มารดาหลังผ่าตัดคลอดจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  ดังนั้นพยาบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ สนับสนุนมารดา ร่วมกับการนำทารกมาเริ่มดูดนมแม่เร็ว โดยเฉพาะในมารดาที่มีอายุน้อย เพื่อช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่าย เพื่อเป็นพื้นฐานในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป
  2. ผลการศึกษา พบว่าวันที่ 3 หลังผ่าตัดคลอด ผู้วิจัยประเมินปริมาณน้ำนมของกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 89.1 กลุ่มตัวอย่างมีน้ำนมมากพอ มีเพียงร้อยละ 10.9 เท่านั้นที่มีปริมาณน้ำนมน้อย ซึ่งขัดแย้งกับการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 33.6 รับรู้ว่าปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอ จึงเสริมนมผสมให้ทารกในวันก่อนจำหน่าย ดังนั้นพยาบาลจึงควรที่จะประเมินการรับรู้ในเรื่องดังกล่าวของมารดา และอธิบายให้มารดาเข้าใจเพื่อป้องกันการเสริมนมผสมโดยไม่จำเป็น

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

  1. ควรศึกษาในตัวแปรอื่นเพิ่มเติม เช่น ปัจจัยทางด้านสภาพร่างกาย ความเจ็บปวดแผลผ่าตัด ความอ่อนเพลีย  ประเภทของการผ่าตัดคลอด ลักษณะของประสบการณ์เดิมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ปริมาณน้ำนมในวันก่อนจำหน่าย การรับรู้ปริมาณน้ำนมของมารดา เป็นต้น
  2. ควรศึกษาเพิ่มเติมในอำนาจการทำนายของอายุมารดา  ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ทัศนคติ  การรับรู้สมรรถนะในตนเอง เวลาที่เริ่มให้นมแม่   และการสนับสนุนจากพยาบาล ต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลที่ 1 ,3 และ 6 เดือน เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ในระยะยาวต่อไป
  3. ควรมีการศึกษาโปรแกรมการพยาบาลในการช่วยเหลือ สนับสนุนมารดา ร่วมกับการนำทารกมาเริ่มดูดนมแม่เร็ว โดยเฉพาะในมารดาที่มีอายุน้อย เพื่อช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่าย  พร้อมทั้งเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
  4. การประเมินผลลัพธ์ของการศึกษา คือความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายนั้นควรมีการประเมินเพิ่มเติมในประเด็นการอมหัวนมที่ถูกต้อง ร่วมกับการดูดนมแม่ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความชัดเจนในผลลัพธ์มากยิ่งขึ้น

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้อาจารย์ที่เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ให้ความสนใจ เรื่องผลการศึกษาและมีข้อเสนอแนะเรื่องการนำผลการวิจัยไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในภาควิชาฯต่อไป

 

 

อ.จิตต์ระพี บูรณศักดิ์ เป็นผู้ถอดบทเรียน
 

รายชื่ออาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. รศ. ศิริวรรณ สันทัด
  2. รศ. ยุวดี  วัฒนานนท์
  3. รศ. นันทนา ธนาโนวรรณ
  4. ผศ. ทัศนีย์วรรณ  พฤกษาเมธานันท์
  5. ผศ. นิตยา  สินสุกใส
  6. ผศ. กันยรักษ์   เงยเจริญ
  7. ผศ. ฉวีวรรณ อยู่สำราญ
  8. ผศ. วาสนา จิติมา
  9. ผศ. ปิยะนันท์  ลิมเรืองรอง
  10. อ. อัจฉรา มาศมาลัย
  11. อ. พรทิพย์ คณานับ
  12. อ. ศุภาวดี วายุเหือด
  13. อ. วรรณา พาหุวัฒนกร
  14. อ. ฤดี ปุงบางกะดี่
  15. อ. รุ่งทิพย์  กาศักดิ์
  16. อ. พุทธิราภรณ์  หังสวนัส
  17. อ. กุลธิดา หัตถกิจพานิชกุล
  18. อ. จารุพร เพชรอยู่
  19. อ. อรวรรณ พินิจเลิศสกุล
  20. อ. จิตต์ระพี บูรณศักดิ์
  21. อ. จีรันดา อ่อนเจริญ