คำถามเรื่องสุขภาพ  
   
 
 
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากอะไร?
โรค มือ เท้า ปาก (Hand, foot, and mouth disease) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่มีชื่อว่า เอนเทอโรไวรัส  (Enterovirus) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่พบบ่อย ได้แก่ ไวรัสเอนเทอโร 71 และ ไวรัสคอกแซคกี้ มักเกิดในทารก และ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันอย่างแออัด สุขอนามัยส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง สิ่งแวดล้อมและอากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น  โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้า
  โดย อาจารย์ อุดมญา พันธนิตย์
20 กุมภาพันธ์ 2557
 
   
 
 
อาการของโรคมือ เท้า ปาก เป็นอย่างไรและติดต่อได้อย่างไร

หลังจากเด็กได้รับเชื้อ 3-5 วัน ก็จะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ต่อมา จะเจ็บปาก มีแผลตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และ กระพุ้งแก้ม กลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่ยอมทานอาหาร จากนั้นจะเกิดตุ่มหรือผื่นนูนแดงเล็ก (ไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ (มักอยู่ด้านข้างของนิ้ว) ฝ่าเท้า (บริเวณส้นเท้า) และอาจพบที่ ข้อศอก ลำตัว หรือก้นได้ ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส ผิวหนังรอบๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติ ภายใน 7-10 วัน โดยทั่วไป เด็กที่เป็นโรคนี้มักไม่มีอาการรุนแรง แทบไม่มีผู้เสียชีวิตเลย

ติดต่อได้จากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรงหรือทางอ้อมจากผู้เลี้ยงดู โดยเชื้อติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน ชาม หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ แต่โรคนี้ไม่ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ

  โดย อาจารย์ อุดมญา พันธนิตย์
20 กุมภาพันธ์ 2557
 
   
 
 
โรคมือ เท้า ปาก จะรักษาอย่างไร

โรคนี้อาการมักไม่รุนแรง จะหายได้เองภายใน 7-10 วัน การรักษาเป็นการบรรเทาอาการต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาทาแผลในปากลดอาการเจ็บปวด ให้อาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ เย็นๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปาก ให้เด็กพักผ่อนอยู่กับบ้านงดไปโรงเรียนประมาณ 1 อาทิตย์ หรือจนกว่าจะหายป้องกันการติดต่อสู่คนอื่น หากมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมรับประทานอาหาร อาเจียน หอบ อ่อนแรง หรือชัก ต้องพาลูกไป โรงพยาบาลทันที

  โดย อาจารย์ อุดมญา พันธนิตย์
20 กุมภาพันธ์ 2557
 
   
 
 
จะป้องกันโรค มือ เท้า ปาก ได้อย่างไร?

โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้  มีการติดต่อโรคนี้จากการสัมผัสกับเชื้อที่ปนเปื้อนออกมาทางอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย ตุ่มน้ำ เข้าสู่ปาก   วิธีการป้องกันทำได้โดย

1. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร  ภายหลังการขับถ่ายอุจจาระ  ตัดเล็บให้สั้น  ไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร 
2. ผู้ดูแลควรล้างมือก่อนและหลังเตรียมอาหาร หรือก่อนและหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือภายหลังสัมผัสลูก หรือเด็กป่วยทุกครั้ง 
3. ทำความสะอาดของเล่นของลูก และผึ่งแดดให้แห้งเป็นประจำ
4. ไม่ควรพาเด็กเล็กๆ   ไปในแหล่งชุมชน สาธารณะที่มีคนอยู่จำนวนมากๆ หรือเล่นกับเด็กอื่นที่ป่วยโรคนี้
5. จัดบ้าน ให้สะอาด อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องถึง
6 สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ โรงเรียนอนุบาล ควรมีการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี  เช่น สถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ มีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะส่งเสริม การรักษาอนามัยส่วนบุคคล  การกำจัดอุจจาระเด็กอย่างถูกต้อง

  โดย อาจารย์ อุดมญา พันธนิตย์
20 กุมภาพันธ์ 2557
 
   
 
 
การอมจุกนมยางจากขวดนมนานๆ ทำไมจึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุ
การเกิดฟันผุ มีสาเหตุหลักอยู่ ๒ ประการ คือ การรับประทานอาหารและการดูแลรักษาความสะอาดช่องปากและฟัน ซึ่งอาหารหลักๆ ที่มีผลทำให้ฟันผุต้องเป็นอาหารที่มีรสหวานเพราะในช่องปากมีเชื้อ สเตรปโตค็อกคัสที่ทำให้เกิดฟันผุ โดยเชื้อนี้จะใช้น้ำตาลในการเจริญเติบโตและส่งผลให้เกิดภาวะความเป็นกรดทำให้แคลเซียม และฟอสเฟตที่เป็นองค์ประกอบหลักของฟันละลายตัวออกมาจากเคลือบฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่ดูดนมจากขวดและหลับไปพร้อมกับขวดนมจึงมีนมค้างอยู่ในปาก ซึ่งในเวลาที่เด็กหลับน้ำลายซึ่งเป็นตัวทำความสะอาดตามธรรมชาติจะมีน้อยมาก เชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากจะเปลี่ยนน้ำตาลในนมเป็นกรดละลายแร่ธาตุออกจากตัวฟันตลอดเวลา ส่งเสริมทำให้ฟันผุเร็วขึ้น ดังนั้น พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกดื่มนมเป็นเวลาควรทำความสะอาดปากฟันหลังรับประทานนม ไม่ควรให้ลูกดูดนมขวดและหลับไปพร้อมกับมีนมค้างอยู่ในปาก
  โดย อาจารย์ ชญาภา  ชัยสุวรรณ 
15 สิงหาคม  2556
 
   
 
 
ลูกสามารถเริ่มแปรงฟันได้เมื่อไหร่คะ?
การเริ่มให้แปรงฟันให้เด็ก ดีที่สุดควรเริ่มแปรงเหงือกให้ลูกตั้งแต่ที่ฟันซี่แรกยังไม่ขึ้น โดยใช้ผ้านุ่มที่สะอาดหรือสำลีพันก้านเช็ดอย่างเบามือเพื่อถูคราบนมและทำความสะอาดเหงือกไปด้วยและเมื่อฟันขึ้น ซึ่งปกติฟันจะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนจึงสามารถเปลี่ยนมาใช้แปรงสำหรับเด็กที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม แปรงชนิดนี้มีลักษณะคล้ายแปรงปกติแต่เสริมแผ่นยางเพื่อช่วยนวดและกระตุ้นเหงือกซึ่งจะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับกับการแปรงฟัน นอกจากนี้การเริ่มใช้ยาสีฟันควรใช้เมื่อเด็กสามารถบ้วนปากได้เอง โดยต้องใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ปริมาณน้อย รสไม่เผ็ด และต้องคอยดูแลไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟันด้วย
  โดย อาจารย์ ชญาภา  ชัยสุวรรณ 
15 สิงหาคม  2556
 
   

 

2 Wang Lang Road, Bangkok 10700, THAILAND Tel: (662)-419-7466-80 Fax: (662)-412-8415

Copyright © 2020 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster: 
nswww@mahidol.ac.th