ความเป็นมา
  ลงทะเบียน
  กำหนดการ
  สถานที่จัดประชุม
  ติดต่อสอบถาม
  ดาวน์โหลดเอกสาร

หลักการและเหตุผล    

การสูงวัยของประชากรเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ประเทศไทยมีประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมดประมาณ ๖๘.๙ ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรไทยจำนวน ๖๕.๙ ล้านคน และเป็นแรงงานข้ามชาติอีกประมาณ ๓ ล้านคน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ๖๕.๙ ล้านคน มีประชากรที่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไปถึงประมาณ ๑๑ ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๖.๕ ของจำนวนประชากร โดยประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aged Society) และจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completed Ageing Society) ใน ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ คือ มีสัดส่วนประชากรสูงอายุสูงถึงร้อยละ ๒๐

รัฐบาลมีแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๖๔) มุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “สภาวะพฤฒพลัง” (Active Ageing) ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้สูงวัยมีการพัฒนาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระและพึ่งพาตนเองแสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของผู้สูงวัยที่มีศักยภาพ และสามารถทำประโยขน์ แก่ตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม แนวคิดภาวะพฤฒพลัง ประกอบด้วย ๓ ประการหลัก ได้แก่ ๑) การส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี (Healthy) ๒) การส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Participation) และ ๓) การส่งเสริมให้มีความมั่นคงหรือมีหลักประกันในชีวิต (Security) นอกจากนั้นประชากรยิ่งสูงวัยก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยมากขึ้น จึงจําเป็นจะต้องเตรียมกําลังคนด้านสุขภาพไว้ให้เพียงพอ เพื่อส่งเสริมการเป็นประชากรสูงวัยอย่างสุขภาพดีและมีสุขภาวะ ทั้งกาย จิตใจ สังคม ซึ่งเป็นกระบวนการตลอดชีวิต ทำให้พึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มีความซับซ้อนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ จิตใจ และสังคม อาจกล่าวโดยทั่วไปว่า สูงวัยอย่างสุขภาพดีและมีสุขภาวะ (Healthy Ageing) มีความหมายทางบวกในหลายมิติเกี่ยวกับสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อปรับตัวทางกายภาพ จิตใจ สังคม ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามพื้นฐานทางวัฒนธรรม และอายุ ในด้านต่างๆ ทั้งส่งเสริม ป้องกัน ดูแลรักษาและฟื้นฟู เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆในสังคม ส่งเสริมความมั่นคงทางรายได้ สิทธิพิเศษในการรับบริการต่างๆ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนและเหมาะสมเพื่อให้ผู้สูงวัยดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ในทางกลับกันผู้สูงวัยไม่ได้เป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียวแต่ยังคงมีพลังและศักยภาพที่ทำประโยชน์ให้กับครอบครัวและสังคม โดยการดูแล เลี้ยงดูบุตรหลาน ทำงานจิตอาสา เป็นที่ปรึกษาและส่งต่อภูมิปัญญาให้กับอนุชนรุ่นหลัง เพื่อให้มีการดำรงชีวิตเป็นไปอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า

สังคมไทยทุกวันนี้มีความตื่นตัวอย่างมากในเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงวัย ที่สะท้อนให้เห็นได้จากการดำเนินงานที่เกี่ยวกับผู้สูงวัยของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมาของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมมือกันดำเนินงานตามนโยบายชาติ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในเรื่องการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดี ยังคงเป็นประเด็นท้าทายสำหรับประเทศไทย การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การดูแลผู้สูงวัย ดำเนินไปในทิศทางที่ดีในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่ยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพยาบาลเป็นบุคคลที่สำคัญในการสร้างระบบการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงวัย

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชฯ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช และสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย จึงเห็นสมควรให้จัดการประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๖๒ เรื่อง “สูงวัยไม่พึ่งพา คืนคุณค่าสู่สังคม” ขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางสุขภาพ ผู้สูงวัยและครอบครัว รวมทั้งผู้ที่สนใจ ได้ตระหนักและเตรียมความพร้อมในการดูแลประชากรผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีสืบไป

วัตถุประสงค์    

๑. ทราบนโยบาย ทิศทางการจัดเตรียมกำลังคน และระบบการส่งเสริมการดูแลสุขภาพดูแลผู้สูงวัยให้มีสุขภาพดี
๒. ทราบแนวคิดในการจัดการส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพในยุค ๔.๐ สำหรับผู้สูงวัย
๓. เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มผู้สูงวัย บุคลากรทางสุขภาพ และประชาชนที่สนใจร่วมกับองค์กรที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้สูงวัย  
๔. ทราบวิธีการส่งเสริมสุขภาพตนเองให้มีสุขภาพดีและมีสุขภาวะเมื่อสูงวัย รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในครอบครัว สังคมทำให้ผู้สูงวัยดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความภาคภูมิใจ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. ผู้เข้าร่วมประชุมนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพของประชากรผู้สูงวัย
๒. เกิดการพัฒนางานด้านบริการ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ในการดูแลสุขภาพประชากรผู้สูงวัยเพื่อให้มีสภาวะ พฤฒพลัง และเกิดเครือข่ายบุคลากรทางการพยาบาลที่สามารถทำงานเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาคุณภาพการบริการ และดูแลประชากรผู้สูงวัยได้

หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องฯ (CNEU)

หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องฯ (CNEU) 15 หน่วยคะแนน

 

 

 

 

 

 

Copyright 2018 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved.

Webmaster: nswww@mahidol.ac.th