รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง มีความเชื่อมั่นอย่างสูงในความรักโรงเรียนและความร่วมมือร่วมใจของศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ในอันที่จะช่วยกันดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทยขึ้นในคณะพยาบาลศาสตร์ให้เป็นผลสำเร็จและเปิดทันงานฉลองครบรอบ 100 ปี โดยในขณะนั้นยังมิได้มีการขอตั้งงบประมาณเป็นทางการ สิ่งที่คณะฯ มีอยู่เป็นทุนเพื่อการจัดพิพิธภัณฑ์ฯ ได้แก่ ห้องในชั้น 4 ของอาคารคณะฯ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 110 ตารางเมตร และทางเดินไปสู่ห้อง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 90 ตารางเมตร

คณะทำงานได้เริ่มวางโครงร่างของพิพิธภัณฑ์ฯ และพิจารณาเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง นางจันทนา นิลวรางกูร ศิษย์เก่าฯ ได้ติดต่อเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอารีจิตเป็นอย่างสูง คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์ อารยางกูร คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นทั้งที่ปรึกษา และสถาปนิกในการออกแบบและการตกแต่งสถานที่ให้เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ที่ภูมิฐานตามควร พร้อมคำนวณประมาณการค่าใช้จ่ายในการตกแต่งโดยตลอด นอกจากการปรับปรุงตกแต่งสถานที่แล้ว แผนรายละเอียดของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเนื้อหาซึ่งประกอบด้วยหลักฐาน และข้อมูลสำคัญของประวัติการพยาบาลไทย จำแนกเป็น 4 หมวด ได้แก่

  • หมวดอุปกรณ์การพยาบาลและอุปกรณ์ในการเรียนการสอนการพยาบาล
  • หมวดเอกสาร หนังสือ ตำรา
  • หมวดภาพ หุ่น
  • หมวดวัตถุสำคัญอื่น ๆ เช่น เข็มเครื่องหมาย ตรา เหรียญ โล่ เครื่องแบบฯ

ข้อมูลที่มีคุณค่า ได้แก่ ข้อมูลว่าด้วยชื่อ เมื่อเริ่มตั้งของโรงเรียนฝึกหัดการพยาบาลแห่งแรกของประเทศ ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น โดยเรียกชื่อว่า โรงเรียนหญิง แพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้ ข้อมูลนี้ได้มาด้วยความเอื้อเฟื้อของสำนักราชกิจจานุเบกษา สำนักงานเลขานุการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล จากหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 13 แผ่นที่ 43 วันที่ 24 มกราคม ร.ศ.115 ชื่อนี้ต่อมาได้ถูกตัดให้สั้นลงโดยการเรียกชื่อเพียงครึ่งแรกว่า โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ จนถึง พ.ศ. 2453 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้งในเวลาต่อมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จึงเป็นอนุสรณ์หนึ่งของความสามัคคีร่วมใจอันเกิดจากความรักสถาบัน การศึกษา และวิชาชีพของพยาบาลไทย นับเป็นอนุสรณ์ของการุณยภาพ ความเอื้ออารีต่อกันในสังคมไทยที่พึงฝากไว้ให้เป็นตัวอย่างอันดีของคนรุ่นหลัง

อย่างไรก็ดี การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีผลสำเร็จในขั้นที่จะเปิดให้สมาชิกเข้าชมเป็นปฐมฤกษ์ได้ แต่การจัดหาหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม และการจัดแสดงทรัพยากรของพิพิธภัณฑ์ให้สื่อข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์ได้ฉับไว ถูกต้อง และดึงดูดสมาชิกให้สนใจเข้าชมหาความรู้นั้น จะต้องกระทำสืบเนื่องต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


การให้บริการ
คณะพยาบาลศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
     
contact webmaster