Anatomy and physiology of breastfeeding
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉันทิกา จันทร์เปีย

 

          เมื่อตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของเต้านมเพื่อเตรียมพร้อมในการให้นมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน คือมีการเจริญเพิ่มขึ้นของต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม เมื่อตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ จะมีการสร้าง colostrums แต่ยังไม่มีการสร้างน้ำนม ภายหลังคลอดจะมีการสร้างน้ำนม โดยในช่วงแรกจะเป็น colostrums หลังจากนั้น 3 – 4 วันจะเริ่มมีน้ำนมในระยะแรก (transitional milk) และประมาณ 10 วัน จะเริ่มสร้างน้ำนมที่สมบูรณ์ (mature milk) หากยังคงให้ทารกดูดนมอย่างสม่ำเสมอ เต้านมจะสามารถปรับการสร้างน้ำนมได้ตามความต้องการของทารก หากเด็กดูดนมน้อยลงน้ำนมจะสร้างน้อยลง และแห้งไปในที่สุด  ลักษณะกายวิภาคสำคัญที่มีการค้นพบความแตกต่างไปจากการค้นพบในอดีต คือ จำนวนท่อน้ำนมที่ทอดผ่านเข้าสู่หัวนมมีจำนวนน้อยกว่าที่เคยตรวจพบ   การแตกแขนงของท่อน้ำนมมีลักษณะคล้ายการแตกแขนงของกิ่งก้านต้นไม้ และอยู่ใกล้ฐานของหัวนมมากกว่าเดิม  และไม่พบ Lactiferous sinus พบแต่ท่อน้ำนมใหญ่ที่สามารถขยายตัวได้เมื่อมีน้ำนมไหลผ่าน พบ Glandular tissue อยู่ใกล้กับฐานของหัวนมมากกว่าเดิม และไขมันในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณฐานของหัวนมมีน้อย ในส่วนของต่อมน้ำนมมีเซล 2 ชั้น ชั้นในคือ areola cell ทำหน้าที่สร้างน้ำนม และชั้นนอกคือ myoepithelial cell ทำหน้าที่บีบตัวให้น้ำนมไหลลงสู่ท่อน้ำนม ทำให้ท่อน้ำนมง่ายต่อการถูกกดมากขึ้น

          สำหรับการสร้างน้ำนมภายหลังคลอดนั้นขึ้นกับฮอร์โมน 2 ชนิด คือ prolactin ทำหน้าที่สร้างน้ำนม จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นขณะทารกดูดนมมารดา และฮอร์โมน oxytocin ทำหน้าที่กระตุ้นการหลั่งน้ำนม ฮอร์โมนนี้จะถูกยับยั้งการหลั่งหากมารดามีความเครียด ไม่สุขสบายหรือกังวล หากต้องการให้มารดามีน้ำนมเลี้ยงทารกต้องกระตุ้นให้ทารกดูดนมบ่อยทุก 2-3 ชั่วโมง และมารดาต้องไม่เครียด หรือกังวล หากไม่ได้ให้ทารกดูดนมสม่ำเสมอหรือไม่ได้บีบนมออกจากเต้านมตามเวลา จะเกิดการคัดตึงของเต้านม มีสาร feedback inhibitor of lactation ซึ่งจะยับยั้งการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมแห้งไปในที่สุด

 
 
 
Copyright © 2021 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th