หลักสูตรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์
รองศาสตราจารย์ กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์

         ช่วงปฐมวัยหรือช่วงอายุ 0 – 5 ปี นับเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากเด็กวัยนี้จะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง แต่จากการสำรวจภาวะสุขภาพของเด็กไทยวัย 0 ถึง 5 ปีที่ผ่านมา พบเด็กมีปัญหาในด้านโภชนาการอยู่จำนวนหนึ่ง โดยพบเด็กอายุ 1 ถึง 5 ปี ร้อยละ 6.3 เตี้ยกว่าเกณฑ์ และร้อยละ 4.8 มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ซึ่งเด็กที่เตี้ยหรือน้ำหนักน้อยนี้มีความเสี่ยงต่อภาวะเชาวน์ปัญญาต่ำ ในขณะที่ ร้อยละ 8.5 มีน้ำหนักเกินและอ้วน1 นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจพบว่าเด็กในวัยนี้มีปัญหาการติดเชื้อระบบหายใจสูงกว่าร้อยละ 60 และติดเชื้อระบบทางเดินอาหารประมาณร้อยละ 92 รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การเกิดภูมิแพ้ ปัญหาพฤติกรรม สมาธิสั้น เป็นต้น3 ซึ่งผลการศึกษาหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่า การได้รับน้ำนมแม่และอาหารตามวัยที่เหมาะสมสามารถช่วยลดอัตราการเกิดปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้4,5           

         การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการให้อาหารตามวัยที่เหมาะสมช่วยให้ทารก และเด็กเล็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างมีคุณภาพ เป็นการเริ่มต้นการสร้างเสริมสุขภาพ และคุณภาพของประชากรของประเทศ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวภายในหกเดือนแรกของชีวิตทารก ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตในอนาคตของเด็กเท่านั้นหากยังมีประโยชน์ต่อแม่ สังคม และประเทศชาติอีกด้วย ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และช่วยป้องกันภาวะทุพโภชนาการเรื้อรังได้อย่างดียิ่ง องค์การอนามัยโลก (World Health organization: WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: Unicef) ได้แนะนำให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่คู่กับอาหารตามวัยจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น          จากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 65 มีการตั้งเป้าหมายทั้งโลกว่าภายใน ค.ศ.2025 เด็กทั้งโลกซึ่งเกิดปีละประมาณ 136.7 ล้านคน ต้องได้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ได้ร้อยละ 50 ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 32.6

         ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายของการให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือนไว้ที่ร้อยละ 30ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แม้จะมีความพยายามในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากหน่วยงานต่างๆทั้งในระดับชุมชน ระดับ ประเทศ  และจากองค์กรระดับนานาชาติ เช่น องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติมายาวนาน อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 4-6 เดือนก็ยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย  ในปี พ.ศ. 2549 องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติได้รายงานว่าประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพียงร้อยละ 5และจากการสำรวจต่อมาอีกหลายๆ ครั้งยังคงพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนยังต่ำกว่าร้อยละ 30ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและมีการให้อาหารตามวัยที่ไม่เหมาะสมอยู่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 7 สถานการณ์เช่นนี้มีความท้าทายว่าในอนาคตระบบสาธารณสุขจะเข้ามาช่วยเหลือสร้างความรู้ความเข้าใจให้บุคลากร และประชาชนอย่างไรมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเริ่มต้นย้อนกลับมาพิจารณาหาแนวทางที่จะทำการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด ระยะกลับไปอยู่ที่บ้าน จนถึงเมื่อกลับไปทำงาน เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาทิ การที่แม่ขาดความรู้และประสบการณ์ในการแก้ปัญหา  ปัญหาจากบุคคลใกล้ชิดและสภาพแวดล้อมที่ไม่สนับสนุนและเอื้ออำนวยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  เป็นต้น

         พยาบาลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในทีมสุขภาพที่อยู่ใกล้ชิดกับแม่และญาติ เป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจ ของแม่และญาติในการขอคำแนะนำปรึกษาต่างๆ  ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลทุกคนควรมีความรู้พื้นฐาน รวมทั้งการปฏิบัติในการแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างถูกต้อง โดยผ่านการเรียนการสอนในหลักสูตรพื้นฐานทางการศึกษาพยาบาลทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาไปปฏิบัติงานพยาบาล แล้วจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการส่งเริมการเลี้ยงลูกดัวยนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอดีตยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิชาเฉพาะ แต่จะไปแทรกอยู่ในวิชาต่างๆซึ่งมีเนื้อหาและเวลาเรียนไม่มากนัก ทำให้ผู้เรียนขาดความรู้และทักษะที่จะนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จากแนวคิดดังกล่าว คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำทางการพยาบาลสถาบันหนึ่งของประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญ และความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในกลุ่มวิชาชีพในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้อาจารย์พยาบาลมีความรู้ ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลิตนักศึกษาพยาบาลที่มีความพร้อม และสามารถนำความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเชฟ ประเทศไทย ในการจัดทำโครงการหลักสูตรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ หลักสูตร คู่มือ และสื่อการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  2. สร้างอาจารย์พยาบาลที่มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

เนื้อหาหลักสูตร แบ่งออกเป็น 4 หน่วย รวม 19 บท ใช้เวลาสอน 16 ชั่วโมง คิดเป็น 1 หน่วยกิต
หน่วยที่ 1   ความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  (2 บท)

  • สถานการณ์ แนวโน้ม และนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • ผลกระทบและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

หน่วยที่ 2   หลักการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (4 บท)

  • ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • การสนับสนุนครอบครัว ชุมชนและสังคมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • แนวปฏิบัติในการให้อาหารทารกและเด็กเล็ก
  • หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

หน่วยที่ 3   ความรู้พื้นฐานในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่(4 บท)

  • กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของการสร้างและการหลั่งน้ำนม กลไกการดูดนมของทารก
  • ส่วนประกอบและคุณค่าของน้ำนม
  • การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่ ลูก และครอบครัว
  • ทักษะการสื่อสารการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

หน่วยที่ 4   แนวปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่(9 บท)

  • แนวปฏิบัติตามบันได 10 ขั้น
  • แนวปฏิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะตั้งครรภ์
  • แนวปฏิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะคลอด
  • การจัดท่าในการให้นมและการให้ลูกอมหัวนม
  • แนวปฏิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอด
  • แนวปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีปัญหาด้านแม่
  • แนวปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีปัญหาด้านลูก
  • แนวปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง
  • การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ (เพิ่มเติมภายหลัง)

เอกสารประกอบการเรียนการสอนและสื่อวัสดุอุปกรณ์ประกอบด้วย

  • Learner's guide
  • Trainer's guide
  • PowerPoint (18 เรื่อง)
  • บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) (18 เรื่อง)
  • กระเป๋านมแม่ซึ่งบรรจุชุด อุปกรณ์การสอน ได้แก่  เสื้อสาธิตการให้นมแม่,เต้านมถุงน่อง,nipple puller, syringe puller, breast shell, อุปกรณ์ทำตุ๊กตาผ้า,และ VDO (สาธิตการทำตุ๊กตาผ้า วิธีการสอนแบบ Hand off การใช้อุปกรณ์แก้ปัญหาหัวนมสั้นแบบต่างๆ)
  • VDO การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 5 เรื่อง ได้แก่  การจัดท่าในการให้นมและการให้ลูกอมหัวนม การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะคลอด นมแม่...เมื่อลูกป่วย การป้อนนมทารกด้วยวิธีการต่างๆ  และการใช้อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การติดตามประเมินผลการนำหลักสูตรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปใช้

          คณะพยาบาลศาสตร์ได้ติดตามประเมินผลการนำหลักสูตรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปใช้ จากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการระยะที่ 1 จำนวน 35 สถาบัน โดยประเมินจากผู้บริหารสถาบัน อาจารย์ผู้สอน และนักศึกษา ผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ข้อดีของการใช้หลักสูตรฯ คือ การจัดการเรียนการสอนมีความต่อเนื่อง มีเนื้อหาวิชาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ข้อเสีย คือ จะต้องใช้เวลาสอนเพิ่มขึ้น หลายสถาบันมีการพัฒนาอาจารย์ผู้สอนให้นำเนื้อหาหลักสูตร และสื่อไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มให้กับนักศึกษาโดยสอดแทรกในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น โภชนาการ การพยาบาลสูติศาสตร์ การพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ และการพยาบาลสาธารณสุขศาสตร์ เป็นต้น ในส่วนของนักศึกษามีความต้องการให้จัดการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะแยกจากวิชาอื่น เพื่อให้ได้ความรู้และแนวทางการปฏิบัติอย่างเต็มที่ สามารถนำไปใช้ในภาคปฏิบัติได้ หลายสถาบันมีแผนจะนำไปปรับเป็นวิชาเพิ่ม 1 หน่วยกิต ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ปัจจุบันคณะพยาบาลศาสตร์ได้มอบหลักสูตรพร้อมสื่อการสอนให้สถาบันการศึกษาพยาบาลเพิ่มอีก 33 สถาบัน รวมสถาบันที่ได้รับหลักสูตรฯ ไปทั้งหมด จำนวน 68 สถาบัน    ทั้งนี้คณะพยาบาลศาสตร์ได้นำเสนอหลักสูตรฯต่อสภาการพยาบาลแห่งประเทศไทย เพื่อในการพิจารณาบรรจุหลักสูตรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จำนวน 1 หน่วยกิต ที่คณะพยาบาลศาสตร์จัดทำขึ้นโดยการสนับสนุนจากองค์การเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เข้าไปในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตที่สภาการพยาบาลจะให้การรับรอง

          สรุป หลักสูตรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ได้พัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้ งานวิจัย และประสบการณ์ของอาจารย์พยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากอาจารย์พยาบาลผู้สอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้หลักสูตรฯ ยังได้ผ่านการวิพากษ์และเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในคลินิกนมแม่ อาจารย์พยาบาลจากสถาบันนำร่องในการนำหลักสูตรไปทดลองใช้ และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก คณะผู้จัดทำหลักสูตรฯ ได้นำข้อคิดเห็นทั้งหมดไปปรับปรุงและจัดทำเป็นหลักสูตรที่สมบูรณ์ หลักสูตรการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับนักศึกษาพยาบาลจะช่วยให้พยาบาลมีความรู้ความสามารถ  มีทักษะ และมีทัศนคติที่ดีในการสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตลอดเวลา แม้เมื่อจบการศึกษาแล้วบางคนจะไม่ได้ปฏิบัติงานโดยตรงในการดูแลแม่และเด็ก ก็ยังมีความรู้พื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ได้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างได้

เอกสารอ้างอิง

  1. วิชัย เอกพลากร, บรรณาธิการ. รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552. นนทบุรี: สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย; 2552.
  2. สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. การสำรวจสถานการณ์เด็กในประเทศไทย ธันวาคม พ.ศ. 2548 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2556, จาก http://service.nso.go.th/nso/nso_center/project/search_center/23project-th.htm 
  3. Bloom B, Cohen RA, Freeman G. Summary health statistics for U.S. children: National Health Interview Survey, 2011. National Center for Health Statistics.Vital Health Stat 10(254). 2012.
  4. Quigley MA,  Kelly YJ,  Sacker A. Infant feeding, solid foods and hospitalization in thefirst 8 months after birth. Arch Dis Child 2009;94:148–150. doi:10.1136/adc.2008.146126
  5. Grummer-Strawn LM, Mei Z. Does breastfeeding protect against pediatric overweight?Analysis of longitudinal data from the Centers for Disease Control and PreventionPediatric Nutrition Surveillance System. Pediatrics 2004;113;e81. doi:10.1542/peds.113.2.e81
  6. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือรายละเอียดตัวชี้วัดการดำเนินงาน    พัฒนาสุขภาพตามคำรับรองการปฏิบัติราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2556. เข้าถึงเมื่อ 5 เมษายน 2556. จาก http://203.157.240.30/bie/contents/view/1032
  7. สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. การสำรวจอนามัยการเจริญ   พันธุ์ พ.ศ. 2552. เข้าถึงเมื่อ 5 เมษายน 2556. จาก http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/theme_2-4-4.html

 
Copyright © 2021 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th