Expression of breastmilk & storage
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิตยา  สินสุกใส

  เหตุผลในการบีบนมแม่เนื่องมาจาก

  1. มารดาและทารกต้องแยกจากกัน จากการป่วยของมารดาหรือทารก เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด
  2. บีบเพื่อเก็บไว้ให้ทารก หรือบีบนมใส่ปากทารกโดยตรง
  3. นมเต็มเต้า ทำให้รู้สึกไม่สบาย
  4. มีปัญหาที่เกิดจากเต้านมและหัวนมเช่นหัวนมแตก เต้านมคัด ท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ หรืออื่นๆ
  5. หากเต้านมคัด หัวนมบวม การบีบนมออกบ้างจะช่วยให้ทารกอมหัวนมง่ายขึ้น
  6. ภายหลังประคบเต้านม

การเลือกใช้วิธีการบีบนมด้วยมือ (hand expression) หรือ การใช้เครื่องปั๊ม (pump expression) ทั้งสองวิธีมีข้อดี ข้อด้อยดังนี้

บีบนมด้วยมือ บีบนมด้วยมือ
ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา มีประโยชน์ หากเป็นวิธีเดียวในการป้อนนมทารก
เช่น ทารกป่วย หรือคลอดก่อนกำหนด
ใช้ทักษะการบีบนม ต้องใช้ไฟฟ้า
ใช้ประโยชน์ได้ในทุกสถานการณ์ อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรค หากทำความสะอาดไม่ดี

วิธีการบีบนมแม่ด้วยมือ

          ก่อนบีบนม ต้องล้างมือให้สะอาด หากสังเกตการดูดนมของทารกจะทราบว่าควรวางนิ้วมือที่ตรงไหน การดูจากขอบของลานนมอาจไม่มีประโยชน์ เนื่องจากลานนมของมารดาแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ควรวางนิ้วหัวแม่มือให้อยู่ตรงข้ามกับนิ้วที่เหลือทั้งสี่นิ้วโดยให้หัวนมอยู่ตรงกลาง กดปลายนิ้วเข้าหาลำตัวพร้อมกับบีบนิ้วเข้าหากัน เมื่อน้ำนมไหลดี เปลี่ยนตำแหน่งไปรอบๆ เต้านม หากบีบแล้วเริ่มไม่มีน้ำนมให้เปลียนข้าง และสลับข้างไปสัก 5-6 ครั้ง อาจทดลองเขย่าเต้านม แล้วบีบดูอีกครั้ง บางครั้งอาจจำเป็นต้องช่วยบีบนม (breast compression) ใส่ปากลูกขณะดูดนมในกรณีที่ทารกน้ำหนักขึ้นน้อย มีอาการของ colic ดูดนมบ่อย ดูดนมนาน มีท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบซ้ำ หรือเป็นการกระตุ้นให้ทารกที่หลับเร็วตื่นขึ้นมาดูดนมต่อ ส่วนในมารดาที่ใช้เครื่องปั๊มนม ควรให้คำแนะนำในเรื่องการเลือกขนาดที่เหมาะสม การใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำการใช้เครื่อง หากใช้หัวปั๊มเดียวควรสลับข้าง 5-6 ครั้ง หากใช้สองข้างพร้อมกัน ควรมีการหยุดพัก (pause mechanism) ที่สำคัญต้องทำความสะอาดหัวปั๊มและท่อยางทุกครั้งหลังการใช้

          การช่วยให้มารดามีการหลั่ง oxytocin ได้ดี จะทำให้น้ำนมไหลดี เช่นการนวดหลัง นวดเต้านม หัวนม
การอาบน้ำอุ่น รูปภาพ ของเล่น หรือเสื้อผ้าลูก ดนตรี รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย การให้ลูกกินนมหรือการบีบนม ปัจจัยที่มีผลต่อการไหลของน้ำนม ได้แก่ ความเครียด การขาดความมั่ใจ ไม่ทราบวิธีการบีบนม ปวด ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

          การบีบและเก็บน้ำนมจากเต้าควรเริ่มทำภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังคลอด ทำทุก 3 ชั่วโมง, 8 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือเมื่อมารดาม่สามารถให้นมลูกได้ในมื้อนั้น อาจจะเพิ่มจำนวนครั้งเป็น 10-12 ครั้งหากทารกตัวเล็กหรือปริมาณน้ำนมลดลง ควรบีบนมทั้งสองข้างสลับกันหลายครั้งในการทำแต่ละมื้อ หากต้องการบีบเก็บไว้ให้ลูกกินในมื้อต่อไป ควรบีบหลังจากทารกดูดนมอิ่มแล้ว หากทารกดูนมข้างเดียวแล้วอิ่ม ให้บีบนมจากข้างที่ทารกไม่ได้ดูด หากจะให้ลูกกินในวันนั้นให้เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาชั้นบนสุด ด้านใน หากทราบก่อนคลอดว่าทารกต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแน่นอน การบีบเก็บหัวน้ำนมก่อนทารกเกิดก็จะเป็นประโยชน์ ภาชนะที่ใช้เก็บนมควรมีปากกว้าง ฆ่าเชื้อหรือทำความสะอาดอย่างดีรวมทั้งฝาปิดภาชนะ ใช้ภาชนะใหม่ทุกครั้งในการบีบเก็บนมแต่ละมื้อ หากจำเป็นต้องเก็บนมรวมกับนมที่เก็บไว้แล้ว ให้รวมกับนมที่เก็บในวันเดียวกันเท่านั้น เขียนชื่อ วันที่ เวลาที่ภาชนะบรรจุ หากต้องการป้องกันการปนเปื้อนควรสวมในถุงหรือกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดอีกชั้นหนึ่งหากมารดาไม่สามารถให้นมแม่ในระยะ 2-3 วันแรก ควรแนะนำให้บีบเก็บหัวน้ำนมในกระบอกฉีดยา ในรายที่มารดามีน้ำนมมากเกิน ให้มารดาบีบเก็บน้ำนมทั้งหมดในแต่ละมื้อ แล้วดูว่าทารกกินนมไปเท่าไร เช่นวันแรกเก็บนมมื้อแรกได้ 80 มล. ทารกกินนมไป 50 มล. เหลือนม 30 มล. ในวันต่อมาใช้ขวดเก็บนมมื้อละ 2 ขวด ขวดแรกเก็บนมเท่ากับ 30 มล. (เท่ากับนมส่วนที่ทารกกินเหลือแบ่งครึ่งข้างละ 15 มล.ซึ่งเป็นนมส่วนหน้า) ขวดที่สองเก็บนมที่เหลือ ซึ่งจะได้ประมาณ 50 มล. (แบ่งครึ่งข้างละ 25 มล. ซึ่งเป็นนมส่วนหลัง)

          ในการนำน้ำนมที่บีบเก็บมาใช้เลี้ยงทารก มีหลักการว่าควรให้หัวน้ำนมแก่ทารกก่อน และให้น้ำนมที่บีบเก็บในช่วง 10 วันแรกก่อนโดยเรียงตามลำดับวัน หลังจากนั้นให้น้ำนมที่เก็บใหม่ก่อน อุณหภูมิของนมควรเท่ากับอุณหภูมิห้องหรือร่างกาย และเขย่านมเบาๆ ก่อนให้ทารก ดูแลให้นมที่ติดอยู่ที่ฝาขวดให้หมด และถ้าเป็นไปได้ให้ใช้ประโยชน์จากนมส่วนหลังที่อุดมด้วยไขมันให้มากที่สุด

 
 
Copyright © 2021 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th