Initiation of breastfeeding
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉันทิกา จันทร์เปีย

  การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จได้นั้นต้องมีการดำเนินการในทุกระยะของการตั้งครรภ์ดังนี้

  1. ในระยะตั้งครรภ์  
    1. ให้ข้อมูลแม่ในเรื่องการคลอดเกี่ยวกับ การเคลื่อนไหวในระหว่างรอคลอด ท่าคลอดที่แม่รู้สึกสุขสบาย
    2. วิธีการในการเริ่มให้นมแม่
    3. สอนแม่ให้รู้วิธีการในการโอบกอดลูกแบบเนื้อแนบเนื้อ( skin to skin contact )
  2. ในระยะคลอด
    1. ควรให้แม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการคลอด ได้คลอดในท่าที่ต้องการ แม่ได้รับการสนับสนุนจากพยาบาล หรือผู้ที่แม่ต้องการให้อยู่เป็นเพื่อนในห้องคลอดได้ และไม่ตัดฝีเย็บโดยไม่จำเป็น
    2. ให้แม่ได้การโอบกอดลูกแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นการคลอดปกติ หรือผ่าตัดทางหน้าท้อง เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดี ช่วยให้ทารกอบอุ่น กระตุ้นการสร้างน้ำนม และ ทารกจะได้รับเชื้อโรคที่อยู่บริเวณลำตัวแม่ ทำให้เกิดภูมิต้านทานที่ดี ทารกจะคลานบนตัวแม่ และสามารถไปถึงเต้านมและดูดนมแม่ได้  ส่วนแม่นั้นจะมีการกระตุ้นให้หลั่ง Prolactin ซึ่งจะทำให้มีการสร้างน้ำนม และกระตุ้นการหลั่ง oxytocin จากการที่ได้เห็นลูก โอบกอดลูก กระตุ้นเกิดพฤติกรรมความเป็นแม่ และกระตุ้นการหลั่งน้ำนม นอกจากนั้นยังช่วยลดความเครียดของแม่ได้
    3. การดูแลทารกทันทีหลังเกิดควรจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่ต้องทำ ควรให้แม่ได้มีการโอบกอดลูกแบบเนื้อแนบเนื้อก่อนกิจกรรมอื่น เช่น การชั่งน้ำหนัก เช็ดตัว ฯลฯ นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการดูแลทางเดินหายใจให้โล่งด้วยการดูดเสมหะโดยไม่จำเป็น หากทารกร้อง หรือมีการเคลื่อนไหวของผนังทรวงอกอย่างสม่ำเสมอ 30-60 ครั้ง/นาที และสีผิวแดงดีก็ไม่จำเป็นต้องดูดเสมหะ ส่วนการตัดสายสะดือให้รอประมาณ 2 นาที หลังเกิดเพื่อให้ทารกได้รับธาตุเหล็กจากแม่เพิ่มขึ้น 
  3. ระยะหลังคลอด   

ไม่แยกทารกออกจากแม่ ให้ทารกดูดนมแม่สม่ำเสมอ หากมีความจำเป็นต้องแยก ควรเริ่มให้ทารกดูดนมแม่เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากดูดไม่ได้ให้น้ำนมแม่ที่บีบเก็บไว้ และทำ skin to skin contact เมื่อสามารถทำได้

 
 
Copyright © 2021 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th