Introduction to complementary feeding
อาจารย์ ดร. พรรณรัตน์ แสงเพิ่ม

           การให้อาหารตามวัยแก่ทารกเร็วเกินไปจะทำให้ทารกได้รับน้ำนมแม่น้อยกว่าที่ควร จึงได้รับพลังงานจากน้ำนมแม่น้อยลงไปด้วยพร้อมทั้งเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่หากเริ่มให้อาหารตามวัยช้าเกินไปก็อาจทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตช้า หรือขาดสารอาหารบางอย่างได้เนื่องจากสารอาหารในน้ำนมแม่มีปริมาณเท่าเดิม ในขณะที่ทารกมีความต้องการสารอาหารและพลังงานเพิ่มมากขึ้น จึงควรพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้อาหารตามวัย

          จากการศึกษาที่ผ่านมาสนับสนุนว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มให้อาหารตามวัยคือเมื่อทารกอายุครบ 6 เดือน โดยในช่วงก่อน 6 เดือน ทารกจะมีปฏิกิริยาที่เรียกว่า extrusion reflex คือการดันอาหารแข็งหรือกึ่งแข็งออกจากปากโดยใช้ลิ้นดันออก ทำให้ไม่เหมาะกับการให้อาหารแข็งหรือกึ่งแข็ง แต่เมื่อทารกอายุ 6 เดือน extrusion reflex จะหายไป ทารกจึงสามารถใช้ลิ้นตวัดอาหารเข้าปากได้ และบริเวณที่ทำให้เกิด gag reflex ในทารกจะเลื่อนเข้าไปข้างในด้านโคนลิ้นมากขึ้น ทารกจึงสามารถกลืนอาหารได้ง่ายขึ้น

          เมื่อเริ่มให้อาหารตามวัยควรพิจารณาถึงคุณภาพของอาหารที่ให้กับทารกด้วย ทารกควรได้รับอาหารที่ให้สารอาหารเหมาะสมและชนิดอาหารหลากหลาย โดยให้อาหารแต่ละวันให้ครบ 5 หมู่ ขณะเดียวกันอาหารต้องให้พลังงานที่เหมาะสม ซึ่งอาหารที่ค่อนข้างเหลวมักให้พลังงานน้อยกว่าอาหารที่แข็งหรือหนืดกว่า หากจำเป็นต้องให้อาหารค่อนข้างเหลวแก่ทารกที่ต้องการพลังงานมาก อาจเติมไขมันลงในอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณพลังงานที่ทารกจะได้รับจากอาหารนั้นๆ ด้วย

          ในการให้อาหารตามวัยจำเป็นต้องสอนให้ทารกได้รู้จักการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม โดยผู้ป้อนจะต้องป้อนอาหารให้กับทารกอายุ 6-8 เดือน เมื่อทารกเติบโตขึ้นผู้ป้อนให้การช่วยเหลือตามจำเป็น เพื่อกระตุ้นให้ทารกหรือเด็กช่วยเหลือตนเองและรับประทานอาหารตามความต้องการของตนเอง ไม่ควรบังคับให้เด็กรับประทาน ลดสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจจากอาหาร และพูดคุยกับทารกหรือเด็กด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล

 
 
Copyright © 2021 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th