Milk sufficiency and growth
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิตยา  สินสุกใส

           โดยทั่วไปในช่วง 2 สัปดาห์แรกของชีวิตทารกจะได้รับ colostrum ในช่วง 1-3 วันแรก เต้านมแม่ยังคงนุ่ม ในช่วงวันที่ 3-4 น้ำนมเริ่มมามารดาจะรู้สึกว่าเต้านมตึง วันที่ 6-7 ทารกจะมีน้ำหนักตัวลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 5% สูงสุดไม่เกิน 10% ของน้ำหนักแรกเกิดน้ำหนักทารกจะเท่ากับน้ำหนักแรกเกิดประมาณวันที่ 10 อย่างช้าวันที่ 14 หากทารกมีน้ำหนักลดลงเกิน 10% ของน้ำหนักแรกเกิดหรือน้ำหนักไม่เท่าแรกเกิดภายใน 2 สัปดาห์อาจจะมีสาเหตุจาก ความเจ็บป่วยของมารดา การมีภาวะแทรกซ้อนขณะคลอด เริ่มให้ลูกดูดนมช้า การดูดนมของทารกไม่มีประสิทธิภาพ ควรป้องกันโดยให้ลูกนอนกับแม่แบบ skin-to-skin contact ทันทีหลังคลอด ช่วยเหลือให้ลูกดูดนมแม่อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากทารกอายุ 2 สัปดาห์มารดามักจะรู้สึกว่าน้ำนมไม่พอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเลิกให้นมแม่ เหตุการณ์ที่ทำให้มารดาคิดว่านมแม่ไม่พอ ได้แก่ ทารกร้องบ่อย หลังดูดนมแล้วยังร้องอยู่ ทารกปฏิเสธการดูดแม่ อุจจาระแข็ง แห้ง ถ่ายอุจจาระไม่บ่อย ลูกร้องกินนมบ่อย ลูกกินนมนาน แม่อาจจะรู้สึกว่าเต้านมไม่ใหญ่ขึ้น น้ำนมไม่มาหลังคลอด บีบแล้วน้ำนมไม่ไหล ซึ่งสัญญาณที่เชื่อถือได้ว่าทารกได้น้ำนมพอได้แก่ น้ำหนักทารกเพิ่มขึ้น ทารกถ่ายปัสสาวะและอุจจาระจำนวนมาก สัญญาณที่บอกว่าทารกได้รับน้ำนมไม่พอ ได้แก่ น้ำหนักทารกขึ้นน้อย (น้อยกว่า 500 กรัมต่อเดือน) ปัสสาวะน้อยกว่า 6 ครั้งต่อวัน สีเข้ม กลิ่นแรง WHO ได้ใช้ growth chart ใหม่ ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มต้องไม่ต่ำกว่า -2Z scoresซึ่ง chart ใหม่ที่ใช้ได้จากมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีประสบการณ์ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นควรอยู่ในเกณฑ์นี้
เดือนที่ 1-2 = 800 กรัม/เดือน (เด็กชาย)
= 700กรัม/เดือน (เด็กหญิง)
เดือนที่ 3 = 600 กรัม/เดือน
เดือนที่ 4-6 = 500 กรัม/เดือน

         ในการดูแลมารดาหลังคลอด ควรติดตามมารดาเพื่อให้แน่ใจว่ามารดาทำตามคำแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถูกต้อง ควรติดตามเยี่ยมมารดาภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด 7, 14 และ 30 วัน และทุกเดือนจนครบ 6  เดือน และทุก 2 เดือนจนทารกอายุครบ 2 ขวบ เยี่ยมเพิ่มเติมหากมารดามีปัญหาการให้นมแม่ และควรมี hot line 24 ชั่วโมงสำหรับช่วยเหลือเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน หากมารดาสร้างและเก็บน้ำนมไว้ในเต้าได้น้อย ทารกอาจจะต้องดูดบ่อยกว่ามารดาที่สร้างน้ำนมได้มากกว่า แต่โดยรวม น้ำนมจะเพียงพอสำหรับทารก สำหรับมารดาที่มีน้ำนมน้อยชั่วคราว สามารถแก้ไขได้โดยช่วยเหลือในการจัดท่า  ให้ดูดนมด้วยความถี่ที่เหมาะสมและระยะเวลาที่นานขึ้น หรือ pattern ของการให้นม เช่น ให้นมเต้าแรกให้หมดก่อนจึงเปลี่ยนข้าง ให้กำลังใจ

         มารดาที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักเกิดจากการเสริมนมขวด ใช้หัวนมปลอม เด็กอมหัวนมไม่ถูกต้อง ให้นมไม่บ่อยพอ ให้นมในช่วงสั้นๆ ไม่ให้ลูกดูดนมในช่วงกลางคืน ในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกเป็นช่วงที่เต้านมปรับระดับการสร้างน้ำนม หากช่วงนี้ให้ทารกดูดนมแม่น้อย นมจะสร้างน้อยและไม่สร้างเพิ่มจากนี้ ทารกบางรายปฏิเสธการดูดนมแม่เนื่องจากน้ำนมมากเกินทำให้ลูกสำลัก การผลักศีรษะทารกให้เข้าดูดนมแม่ การดูดนมจากขวดหรือจุกยาง หรือทารกป่วย การแก้ไขอาจจะต้องให้ทารกนอนแนบเนื้อกับแม่มากขึ้น ให้ทารกสำรวจเต้านม บีบนมแม่มาป้อนด้วยแก้ว หลีกเลี่ยงการใช้ขวดในการให้ความช่วยเหลือมารดาที่มีน้ำนมไม่เพียงพอ ควรใช้เทคนิคการให้คำปรึกษาได้แก่ การรับฟังอย่างตั้งใจ เข้าใจความกังวลของมารดา พูดคุยหาสาเหตุ สังเกตการดูดนมของทารกอธิบายว่าทำอย่างไรจะเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ เสริมสร้างความมั่นใจของมารดา แนะนำให้รับประทานอาหารและดื่มน้ำให้เพียงพอ ถ้าเป็นไปได้ให้มารดาพักผ่อนพร้อมทารก สนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวให้ความช่วยเหลือมารดาในการทำงานบ้าน อาจจะช่วยให้มารดาได้พูดคุยกับมารดาคนอื่นที่อยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน

 
 
Copyright © 2021 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th