วันนี้ (12 พฤษภาคม 2568) เวลา 12.00–13.00 น. รองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วม Webinar หัวข้อ “Shaping the Future of Nursing in Southeast Asia” ซึ่งจัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องในวันพยาบาลสากล 2025 ผ่านระบบ Zoom โดย รศ.ดร.เอมพร เข้าร่วมในฐานะ 1 ใน 2 ตัวแทนจากศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก (WHO Collaborating Centres – WHOCCs) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARO) ร่วมกับ Dr. Vinitha Ravindran จาก Christian Medical College Vellore ประเทศอินเดีย
รศ.ดร.เอมพร ในฐานะผู้อำนวยการ WHO Collaborating Centre for Nursing and Midwifery Development คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวแสดงความคาดหวังต่อรายงาน State of the World’s Nursing Report 2025 (SOWN 2025) ว่าจะมีบทบาทสำคัญในการชี้นำทิศทางการพัฒนากำลังคนพยาบาลในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะในบริบทของ การขาดแคลนและกระจายตัวไม่ทั่วถึงของพยาบาล ข้อจำกัดด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่องว่างทางนวัตกรรม และความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปการศึกษาพยาบาลและภาวะผู้นำ ให้สอดรับกับความต้องการด้านสุขภาพที่ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน รศ.ดร.เอมพรยังได้สะท้อนบทบาทของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็น WHO Collaborating Centre for Nursing and Midwifery Development ในการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนพยาบาลในระดับภูมิภาค ผ่านการดำเนินงานในหลายมิติ ได้แก่
- การจัดฝึกอบรมเฉพาะทางสำหรับพยาบาลและผดุงครรภ์ โดยเฉพาะด้านการพยาบาลผู้สูงอายุและการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีภาวะโรคร่วมหลายโรค (multimorbidity)
- การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านการวิจัย เช่น การฝึกอบรมการทำ systematic review ซึ่งช่วยให้พยาบาลสามารถใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจในการปฏิบัติและการพัฒนานโยบาย
- การพัฒนาอาจารย์พยาบาล โดยส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนแบบสหวิชาชีพ (Interprofessional Education: IPE) เพื่อเตรียมบุคลากรสุขภาพสำหรับการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.เอมพรยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสนับสนุน การวิจัยเชิงนโยบายที่เน้นประเด็นด้านแรงงานพยาบาล โดยเฉพาะสภาพการทำงาน สุขภาพจิต และความเป็นอยู่ของพยาบาล ซึ่งมักถูกมองข้าม ทั้งที่เป็นรากฐานของการสร้างระบบกำลังคนที่ยั่งยืนและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ “รายงานนี้ไม่ใช่แค่การรวบรวมข้อมูล แต่เป็นเครื่องมือสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” รศ.ดร.เอมพรกล่าว พร้อมแสดงความมุ่งมั่นว่า WHO Collaborating Centre for Nursing and Midwifery Development คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะนำสาระจากรายงานไปใช้ในการกำหนดทิศทางการทำงานต่อไป เพื่อสนับสนุนประเทศในภูมิภาคในการพัฒนากำลังคนพยาบาล และขับเคลื่อนเป้าหมายของยุทธศาสตร์โลกด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
การเข้าร่วมเวทีระดับนานาชาติในครั้งนี้ สะท้อนถึงบทบาทเชิงรุกของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำระดับภูมิภาคที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพและการพยาบาลอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก