การบรรยายแบบมีส่วนร่วม


     ผศ.ดร.กรองได  อุณหสูติ


         การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning: PL) เป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากการ learning by doing    เพื่อดึงความสามารถของผู้เรียนออกมาในรูปของการเรียนรู้ active learning ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมในการเรียนการสอน ประกอบด้วย ประสบการณ์ (experience) การสะท้อนความคิด (reflection) ความคิดรวบยอด (concept) และการประยุกต์ใช้ (application)  ช่วยในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยผู้เรียนจะมีส่วนร่วมทางด้านจิตใจ ได้รับประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง แสวงหาความรู้ การคิด การจัดการความรู้ และการแสดงออก  การสร้างความรู้ใหม่   และการทำงานร่วมกัน

          ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการใช้จิตใจเข้าร่วมในการเรียนรู้   โดยครูผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น   เลือกบทเรียนที่ต้องการเรียนรู้ศึกษาด้วยตนเอง จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สัมพันธ์สอดคล้องกับชีวิตจริง ผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง   ฝึกปฏิบัติวางแผนการทำกิจกรรมกลุ่ม  ฝึกทักษะการแสวงหาความรู้ ทำรายงานผลการเรียนรู้จากบันทึกความรู้ การคิด การจัดการความรู้  และการรายงานผลการเรียนรู้    ช่วยให้ผู้เรียนได้ค้นพบตนเอง เข้าใจความต้องการและทราบถึงระดับความสามารถของตนเองจากการฝึกฝนทักษะต่างๆ โดยจะต้องให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้น  เพราะผู้เรียนได้ค้นพบตนเอง  เข้าใจความต้องการ และทราบถึงระดับความสามารถของตนเอง ซึ่งจะเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น

การบรรยายแบบมีส่วนร่วม

          การบรรยายแบบมีส่วนร่วม เป็นการใช้หลักการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม    โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมของผู้เรียนก่อนให้ความรู้ใหม่  ครูผู้สอนต้องจัดวางแผนปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง  ดังนี้

1.  เตรียมการสอน
          1.1  วินิจฉัยผู้เรียน เป็นการพิจารณาความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม และความสามารถของผู้เรียน   อาจใช้วิธีพูดคุย หรือใช้แบบทดสอบก่อนเรียนเพื่อเตรียมเนื้อหาและวิธีการสอน
          1.2  เตรียมเนื้อหา โดยพิจารณาถึงความละเอียด ลึกซึ้ง และลำดับของเนื้อหา ให้สอดคล้องกับลักษณะวิชา เวลา และผู้เรียน
          1.3  เตรียมคำถาม ที่จะใช้ถามผู้เรียนระหว่างการบรรยาย ซึ่งต้องสอดคล้องและเนื้อหา  เพื่อให้ผู้เรียนตื่นตัวและสนใจอย่างต่อเนื่อง
          1.4  เตรียมสื่อการเรียนการสอน ที่เสริมความเข้าใจในบทเรียน เช่น ภาพ สิ่งจำลอง ของจริง
          1.5 เตรียมการวัดผลประเมินผล เช่น แบบฝึกหัด แบบทดสอบหลังการเรียน เป็นแบบฝึกหัด เพื่อวัดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

2.  การสอน
          2.1 นำเข้าสู่บทเรียนด้วยการดึงประสบการณ์ของผู้เรียน ครูผู้สอนใช้คำถามดึงประสบการณ์ของผู้เรียนที่มีอยู่ออกมาใช้ในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และแบ่งปันประสบการณ์ที่เหมือนหรือแตกต่างภายในกลุ่ม โดยการทบทวนความรู้เดิมหรือความรู้จากการบรรยายในครั้งก่อน ก่อนต่อยอดความรู้ใหม่
ผู้เรียนจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญที่มีคนฟังเรื่องราวของตนเอง  ได้รับโอกาสรับรู้เรื่องราวของคนอื่นซึ่งทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น เกิดสัมพันธภาพในกลุ่มผู้เรียน  และเกิดเจตคติที่ดีในการเรียนรู้  ทั้งยังได้รับการสะท้อนจากการแสดงความคิดเห็นจากผู้เรียนอื่นๆ
ครูผู้สอนได้เชื่อมโยงความรู้เดิม    เสริมความรู้ประเด็นต่างๆ ที่สอดคล้องกับประสบการณ์จริงของผู้เรียน ก่อนที่ให้ความรู้ใหม่   หากผู้เรียนไม่มีประสบการณ์   ครูผู้สอนอาจจะยกกรณีหรือสถานการณ์ตัวอย่าง ให้ผู้เรียนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น 
          2.2  บรรยาย  ด้วยการบอกขอบข่ายเนื้อหาและวัตถุประสงค์การเรียนรู้  อธิบายเนื้อหาในลักษณะผนวก ความรู้ใหม่กับความรู้เดิมตามลำดับ เพื่อให้ผู้เรียนผ่านขั้นตอนของการเรียนรู้ คือ รู้ เข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้    ทั้งนี้ครู ผู้สอนควรสรุปเนื้อหาไปพร้อมๆ กับคำถามทดสอบความเข้าใจ   และสังเกตปฏิกิริยาของผู้เรียนตลอดเวลาเพื่อการย้ำซ้ำหรือหยุดทบทวน
ครูผู้สอนจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนจับคู่พูดคุยกันในระยะเวลาสั้นๆ เกี่ยวกับเนื้อหาที่สอน  แล้วสุ่มถาม
แต่ละคู่ใน จะช่วยให้ครูผู้สอนได้ทราบถึงความเข้าใจของผู้เรียน  และพัฒนาความคิดรวบยอดในการนำเสนอ     
ครูผู้สอนจัดกิจกรรมกลุ่มย่อย 5-6 คน ให้ผู้เรียนพูดคุยกันในระยะเวลาสั้นๆ เกี่ยวกับประเด็นการนำเนื้อหาที่สอนไปใช้แก้ไขปัญหาในสถานการณ์ตัวอย่าง  แล้วสุ่มถามแต่ละกลุ่ม ถึงความคิดเห็นที่เหมือนหรือแตกต่าง  เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้ความรู้
ครูผู้สอนควรวางแผนยกตัวอย่างหรือสถานการณ์ประกอบความชัดเจนของเนื้อหา   เพื่อให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นใช้ทักษะการคิดรวบยอดและการสะท้อนความคิด  เพื่อประเมินการรู้ชัดเห็นจริงของผู้เรียน
          2.3  สรุปบทเรียนเป็นการสรุปโยงเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ    โดยให้ผู้เรียนวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์หรือตัวอย่างปัญหา ให้เวลาในการซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น    มอบหมายการสรุปเรียนรู้และการเตรียมตัวในการเรียนครั้งต่อไป

3.  การติดตามผล
          เป็นการประเมินผลผู้เรียนและการสอน    ครูผู้สอนสุ่มตรวจสมุดบันทึกที่ผู้เรียนจดคำบรรยาย ให้ทำแบบทดสอบ ติดตามผลการสอบ  และติดตามใบประเมินผลการเรียนการสอนจากครูผู้เข้าสังเกตการสอนและผู้เรียน

ช่วยบอกเกี่ยวกับ…………”
รู้สึกอย่างไรเมื่อ………….”
ทำไมคิดว่า …………… จึงเกิดขึ้นได้
จะทำอะไร ถ้า……………”

ผู้เข้าร่้วมประชุม
ผศ.ดร.กรองได อุณหสูติ (ประธาน)
ผศ.สุวดี  ไกรพ้น
อ.พรสินี  เต็งพานิชยกุล
อ.กาญจนา  ครองธรรมชาติ
รศ.เพ็ญจันทร์  เสรีวิวัฒนา
อ.พรรณิภา  สืบสุข
อ.ดร.ศรินรัตน์  ศรีประสงค์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2 Phrannok Road, Bangkok 10700, THAILAND Tel: (662)-419-7466-80 Fax: (662)-412-8415 Copyright © 2013 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved.